สิ่งที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด แค่เอามือลูบตัวไป เราก็จะเจอเสื้อผ้าที่เราสวมใส่อยู่ มันใกล้จนเราไม่ได้รู้สึกถึงความพิเศษ แต่ถ้าลองพิจารณาดูแล้ว จะรู้ว่าจุดเริ่มต้นจริงๆ มันก็เป็นแค่เส้นด้ายมาขัดกันเป็นแนวตั้งและแนวนอน ถูกถักทอต่อไปไม่รู้จบ จนกลายออกมาเป็นผืนผ้าชิ้นใหญ่ที่เราไว้ทำเสื้อผ้าก็ได้ หรือจะเป็นเครื่องใช้อย่างผ้าห่ม ปลอกหมอน ผ้าพันคอ ฯลฯ ก็ได้

บรรยากาศนิทรรศการที่ Rosewood Bangkok

ที่ชั้น 3 โรงแรมโรสวูด แบงค็อก เราเดินผ่านทางเชื่อมจากรถไฟฟ้าเข้าไป ด้านในมีการตกแต่งผนังด้วยงานศิลปะบนผืนผ้าหลายชิ้นที่ล้วนสร้างสรรค์ด้วยมือ โดยได้แรงบันดาลใจมาจากชิโบริหรือศาสตร์การมัดย้อมผ้าของญี่ปุ่น และการใช้สีธรรมชาติ ศิลปินเจ้าของงานชุดนี้คือแอน กรรณชลี งามดำรงค์ ที่หลงใหลงานทอผ้าตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรีด้านออกแบบสิ่งทอที่ Chelsea College of Art London ประเทศอังกฤษ ก่อนจะกลับมาเมืองไทยและทำงานด้านเท็กซ์ไทล์ให้กับงานอินทีเรียร์ จนกระทั่งมาริเริ่มแบรนด์ของตัวเองที่เชียงใหม่ ชื่อว่า Slow Stich Studio

กรรณชลี งามดำรงค์ ศิลปินเจ้าของนิทรรศการ Out of the Fold

จุดเริ่มต้นของการเริ่มทำงานศิลปะบนผืนผ้าคืออะไร

แอน: ตอนกลับมาจากอังกฤษ พบว่าเครื่องไม้เครื่องมือที่เมืองไทยต่างจากที่นู่นเยอะ เราก็ยังหาจุดตรงกลางไม่ได้ในการที่จะออกแบบสิ่งที่เรียนมาด้วยอุปกรณ์ที่สามารถหาได้ในเมืองไทย เรามาทำงานผ้าให้กับอินทีเรียร์ดีไซน์อยู่พักหนึ่ง ก็เลยลาออกไปเรียนชิโบริ มันเป็นวิธีการมัด เย็บ ย้อม ของญี่ปุ่น ซึ่งจริงๆ ศาสตร์นี้ที่ประเทศอื่นก็มี แต่เทคนิคและลวดลายก็จะต่างกัน อย่างของแอฟริกาลายจะไม่ค่อยซับซ้อน ส่วนของอินเดียจะเป็นจุดๆ กลมๆ เน้นขยี้ให้ลายมันติดกัน แต่ของญี่ปุ่นจะใช้การเย็บทำให้เป็นรูปดาว รูปสี่เหลี่ยม ฯลฯ สิ่งสำคัญคือเรารู้สึกว่าอุปกรณ์มันไม่มีอะไรมาก แค่เข็ม ด้าย มือ หม้อ เป็นอะไรที่ไม่ได้ยากเกินเข้าใจ เราสามารถเทรนคนอื่นได้ด้วย พอเรียนพื้นฐานได้ ก็เลยทดลองคิดค้นด้วยตัวเองในการออกแบบ คิดวิธีการเย็บ ลองผิดลองถูกแล้วก็ลุยเลยโดยได้แรงบันดาลใจมาจากชิโบริ เป็นการทำซ้ำและผลักกรอบชิโบริออกไปเรื่อยๆ

อธิบายลักษณะกระบวนของงานที่ทำหน่อย

แอน: เราอยากทำงานที่ไม่ใช่แค่ผ้าผืนเดียว แต่เอาลายต่างๆ ที่เคยทำมารวมกัน เก็บไว้เป็นความทรงจำ ส่วนเรื่องการปะผ้า ปีที่แล้วได้ไปเกาหลีและได้เรียนรู้การปะผ้าที่เรียกว่าโบจากิ เขาจะเอาเศษผ้ามาปะรวมกันและทำเป็นผ้าม่าน เพราะคนสมัยก่อน กว่าจะได้ผ้ามาผืนหนึ่งต้องทอ เขาก็เลยจะไม่ทิ้งเศษผ้า เราก็เลยเอาตรงนี้มาเป็นแรงบันดาลใจมาทำเป็นงานแพตช์เวิร์ก

ในงานแต่ละชิ้นใช้ผ้าอะไรบ้าง

แอน: แต่ละงานมีทั้งไหม ลินิน คอตตอนอยู่ในนั้น ถ้าทำงานที่เย็บเยอะ เราใช้ผ้าไหมไม่ค่อยได้ เพราะว่าบอบบางและมีโอกาสจะขาดได้ง่ายกว่า แต่ลินินกับฝ้ายค่อนข้างแข็งแรงกว่า ถ้างานที่เย็บเยอะๆ ก็เลยต้องใช้ลินินกับฝ้าย ความยากง่ายขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น เส้นด้ายที่ทอมีความอ้วนผอมอย่างไร โครงสร้างของการทอผ้าเป็นแบบไหน แล้วพอนำไปย้อม ผ้าแต่ละแบบเลยดูดสีได้ไม่เหมือนกัน บางอันดูดได้ฉ่ำมาก บางอันได้หน่อยเดียว อันที่ทำลายยากๆ ได้ดีก็คือพวกลินิน

แล้วกระบวนการย้อมผ้าจากสีธรรมชาติเป็นอย่างไร

แอน: 4 ปีที่แล้วเริ่มจากครามก่อนอย่างเดียว แต่สักพักก็อยากมีสีอื่นผสมด้วย ก็เลยมาลองสีธรรมชาติ น้ำตาล แดง ด้วยการย้อมจากเปลือกไม้ บางชิ้นก็เลยจะไม่มีสีครามเลย การย้อมสีธรรมชาติ ถ้าเป็นคราม มันจะแยกออกไปจากการย้อมสีธรรมชาติปกติ คือมันเป็นการย้อมสีธรรมชาติเหมือนกัน แต่การจะให้ได้สีครามที่เข้มขึ้น มันต้องใช้การจุ่มและตากอากาศ ซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ อย่างที่เราทำ ก็จะ 7-10 ครั้ง เพื่อให้สีมันมีมิติหรือเข้มขึ้น โดยเป็นการย้อมเย็นเท่านั้น ส่วนสีธรรมชาติอื่นๆ จะเป็นการย้อมร้อน นั่นคือต้มพืช สกัดสี แต่ว่าขั้นตอนการย้อมสีธรรมชาติจริงๆ แล้วมันไม่สามารถทำแค่การใส่ผ้าลงไปในหม้อ มันจะต้องมีการเตรียมผ้าให้พร้อมดูดซับสี เราจะใช้สารส้มมาแกว่ง และสนิมเหล็ก เป็นตัว control อย่างพืชตัวนี้คือไม้ฝาง ถ้าผสมกับสารส้มจะเป็นสีชมพู แต่ถ้าผสมกับสนิมนิดนึง จะออกม่วง หรือสมอไทย ถ้าผสมสนิม ก็จะออกเหลือง น้ำตาล และถ้าผสมแค่สารส้มก็จะเป็นเหลืองสดใส คือพืช 1 ชนิด สามารถให้สีได้หลายเฉด

งานบางชิ้นเป็นผ้าผืนใหญ่ๆ ที่อาจใช้เป็นผ้าห่มหรือเครื่องใช้อื่นๆ ได้ แต่บางชิ้นก็เป็นการมัดผ้าออกมาด้วยรูปทรงที่ไม่ปกติ เหล่านี้มีแนวคิดเบื้องหลังอย่างไร

แอน: เวลาทำงานคราฟต์หรือดีไซน์ เรามองเห็นปลายทางว่ามันจะออกมาเป็นโปรดักต์อย่างผ้าพันคอ เสื้อผ้า หรือปลอกหมอน แต่บางชิ้นงานที่มีรูปทรงแปลกๆ นี่ เราอยากจะนำเสนอกระบวนตรงกลางว่ารูปทรงหรือฟอร์มที่มันออกมาระหว่างที่เราทำงานพวกนี้ มันมีภาษาที่สวยงามของมันที่น่าสนใจ

ทำไมถึงหลงใหลศิลปะบนงานผ้า

แอน: ตั้งแต่ที่เลือกเรียนงานผ้าตั้งแต่แรก เรารู้สึกว่ามันมหัศจรรย์มากสำหรับเรา เริ่มตั้งแต่ไม่มีอะไรเลย แล้วเอาด้ายมาขัดกันสองชุด และออกมาเป็น surface และการทำงานแบบนี้มันได้อยู่กับตัวเองอย่างแท้จริง มีเราและสิ่งที่อยู่ตรงหน้า มือเรา และต้องใช้สมองโฟกัสมากๆ คล้ายๆ ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องจักรที่อยู่ข้างหน้าเราด้วย ทั้งมูฟเมนต์ของบอดี้และอะไรต่างๆ ที่เราต้องส่งด้าย ส่งกระสวยไป มันเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งนั้น ขณะที่ในกระบวนการของชิโบริ เราก็เป็นหนึ่งเดียวกับผ้าที่อยู่ข้างหน้า ตอนไปเรียนที่ญี่ปุ่น เราทำงานดีไซน์มาก่อนและออกจากงาน ไม่รู้เรื่องชิโบริ หรือย้อมครามหรืออะไรเลย เราแค่อยากไปเรียนอะไรใหม่ๆ ที่ทำให้เรากลับมาสู่การทำงานด้วยมือ ตา สมอง ที่มันโฟกัสอยู่กับสิ่งข้างหน้า ครูก็บอกว่าเข้าใจแล้วว่าทำไมเธอถึงมาเรียน “เพราะว่าเธออยากรู้สึกถึงความเป็นมนุษย์อีกครั้ง”

นิทรรศการ Out of the Fold โดยกรรณชลี งามดำรงค์ จัดแสดงที่ชั้น 3 Rosewood Bangkok จนถึงวันที่ 31 มี.ค. 2563

อ่านบทความเกี่ยวกับงานศิลปะบนผืนผ้าเพิ่มเติมได้ที่ สตูดิโอผ้าทอเก๋แบบหลวงพระบางร่วมสมัยที่ชื่อว่า “ออกพบตก”

Leave a Reply