งานศิลปะที่สะท้อนว่า “พวกเขาไม่เข้าใจกัน”

Collection of the National Museum of Art, Osaka
ไม่มีมนุษย์คนไหนในโลกนี้ที่เหมือนกันไปซะทั้งหมด แต่ละคนมีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะด้วยเรื่องของวัฒนธรรม ภูมิหลังประสบการณ์ ความคิดและจิตสำนึก หรือแม้กระทั่งเรื่องภายนอกที่เรามองเห็นด้วยตาอย่างสีผิว สีผม ความสูง ฯลฯ ความแตกต่างเหล่านี้เองที่ทำให้ “การไม่เข้าใจ” คนอื่น บางทีก็เกิดขึ้นได้ นี่คือที่มาของคอนเซ็ปต์นิทรรศการศิลปะที่มีชื่อว่า ‘They do not understand each other‘

: Courtesy of Tai Kwun
นิทรรศการศิลปะนี้จัดขึ้นที่ Tai Kwun Contemporary ฮ่องกง ลาวีอองโร้ดได้มีโอกาสไปดูมาแล้วในช่วงโควิด ผ่านทาง virtual press conference ซึ่งมีคิวเรเตอร์และผู้จัดงานมาพาทัวร์นิทรรศการทุกซอกทุกมุมในห้องจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ ประหนึ่งว่าเราได้เดินทางไปที่นั่นจริงๆ เลย นับว่าเป็นประสบการณ์ใหม่ในการชมงานศิลปะสำหรับเรา ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ได้ดูงานอาร์ตผ่านหน้าจอคอมฯที่บ้าน แถมเรายังตื่นเต้นที่ได้เห็นงานของศิลปินไทยมาร่วมจัดแสดงในครั้งนี้ด้วย
- ก่อนชมนิทรรศการ เราสามารถลองเข้าไปทดลองดูไฮไลท์งานผ่านโปรแกรมอินเตอร์แอ็กทีฟ Signage Journey ซึ่งให้เราได้ทดลองบรรยากาศเหมือนกับการไปที่ Tai Kwun จริงๆ ที่ Tai Kwun’s website

: Courtesy of Tai Kwun
Collection of Singapore Art Museum
‘They do not understand each other’ เป็นนิทรรศการกลุ่มที่จัดโดยความร่วมมือกันของ SAM (Singapore Art Museum), พิพิธภัณฑ์แห่งชาติเมืองโอซาก้า (National Museum of Art, Osaka) เพื่อนำ 23 ชิ้นงานมาจัดแสดงที่ Tai Kwun Contemporary ที่ฮ่องกง สร้างสรรค์โดยศิลปินจากหลากหลายประเทศ เช่น วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ (ประเทศไทย), THAN Sok (กัมพูชา), Saori AKUTAGAWA (MADOKORO) (ญี่ปุ่น), Heman CHONG (สิงคโปร์), Tsubasa KATO (ญี่ปุ่น), Sojung JUN (เกาหลีใต้) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีอีกสองผลงานที่สร้างสรรค์ใหม่โดย Kohei Sekigawa และ Akira Takayama

Collection of Singapore Art Museum
อันที่จริงแล้ว ชื่อ ‘They do not each other’ นี้ เป็นชื่อผลงานศิลปะของสึบาสะ คาโตะ (Tsubasa Kato) ศิลปินชาวญี่ปุ่นที่ทำร่วมกับเพื่อนร่วมงานชาวเกาหลีของเขา สร้างสรรค์ขึ้นตั้งแต่เมื่อปี 2014 เป็นลักษณะคนสองคนยืนอยู่บนเกาะเล็กๆ แห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ระหว่างเกาหลีและญี่ปุ่น กำลังปฏิบัติภารกิจง่ายๆ อย่างหนึ่งร่วมกัน แต่ว่าทั้งคู่กลับดูไม่เข้าใจในถ้อยคำของอีกฝ่ายเลย มันสะท้อนอารมณ์ขันและความอดทนต่อกันและกัน และบ่งบอกว่าความเข้าใจกัน บางทีมันก็อยู่เหนือเกินกว่าขอบเขตของภาษา

ศิลปินต้องการสื่อว่าสุดท้ายแล้วการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำให้ความเข้าใจซึ่งกันและกันเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบอยู่ดี แต่มันเป็นเรื่องของการเปิดบทสนทนาผ่านทางมุมมองอันเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละฝ่ายมากกว่า

New commission by Tai Kwun Contemporary
คอนเซ็ปต์นี้ได้ถูกนำมาพัฒนาต่อ และเกิดเป็นชิ้นงานของศิลปินหลายเชื้อชาติผ่านการตีความในมุมมองของตน ว่าพวกเขา ‘เข้าใจ’ ‘ความไม่เข้าใจ’ นี้ว่าอย่างไร กลายเป็นว่างานศิลปะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนและการสนทนาโดยเกินขอบเขตของภาษาพูดไปอีก แถมยังเกิดขอบเขตของรูปแบบงานศิลปะด้วย เนื่องจากมันมีทั้งเพนต์ติ้ง สคัลป์เจอร์ เท็กซ์ไทล์ เพอร์ฟอร์มานซ์ ภาพถ่าย หรือแม้แต่ประติมากรรมขยับได้ (kinetic installation)
ชมตัวอย่างงานชิ้นไฮไลท์

Collection of Singapore Art Museum
ผู้ที่สร้างสรรค์งานประติมากรรมขยับได้ที่เราเพิ่งกล่าวถึงไปนั้นก็คือศิลปินไทยอย่าง วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ กับผลงานที่ชื่อว่า ‘Not Quite A Total Eclipse’ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากงานชุดก่อนหน้าของเขาเอง นั่นคือ ‘ไมยราพ’ ชื่อพืชชนิดหนึ่งที่เมื่อมีคนไปแตะโดน มันก็จะหุบใบชั่วคราว แต่ในสคัลป์เจอร์ชิ้นใหม่นี้จะเป็นลักษณะของการขยับที่ทำให้เกิดแสงและเงาไปตามจังหวะ เหมือนกับปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ สุริยคราส หรือการที่เงาของดวงจันทร์มาบดบังดวงอาทิตย์ และสิ่งนี้มันก็มาพร้อมตำนานความลึกลับและความเชื่อมากมายในสังคมไทย

Collection of Singapore Art Museum
:Image courtesy of the artist
ขณะที่งานไฮไลท์ที่น่าสนใจอีกชิ้นคือ Memorial Project Nha Trang, Vietnam: Towards the Complex— For the Courageous, the Curious and the Cowards เป็นงานวิดีโอของ Jun Nguyen-Hatsushiba ศิลปินเชื้อสายญี่ปุ่นและเวียดนาม เขาถ่ายทำที่ชายฝั่งแห่งหนึ่งในเวียดนาม เป็นงานชิ้นแรกที่เขาถ่ายใต้น้ำ โดยมีชาวประมงกำลังตรากตรำกับการลากจักรยานไปกับพื้นดินใต้ทะเล สะท้อนชีวิตของ ‘ชาวเรือ’ เวียดนาม ที่ต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อหวังจะมีอนาคตที่ดีกว่าท่ามกลางความไม่แน่ไม่นอนของกระแสน้ำ

Collection of Singapore Art Museum
Image courtesy of the artist
นอกจากนี้ก็ยังมีงานชุด ‘In Love for the Mood’ งานวิดีโออีกชิ้นของ Ming Wong ที่อิงเรื่องมาจากหนังฮ่องกงชื่อดังของหว่อง กา ไว (Wong Kar Wai) แต่ศิลปินได้เปลี่ยนให้ฝรั่งผิวขาว (Caucasian) มารับบทเป็นนักแสดง ต่อด้วยงานชุด ‘Like Someone in Love’ ของ Chi Too ซึ่งเป็นการเพนต์อะคริลิกลงบนแผ่น bubble ห่อกันกระแทก 3 แผ่น สะท้อนความรู้สึกเวลาคนกำลังอินเลิฟหรืออยู่ในห้วงความรัก เหมือนกับแผ่นบับเบิ้ลซึ่งปกติแล้วภายในจะกักเก็บอากาศอันว่างเปล่าไว้ ทำหน้าที่ห่อหุ้มปกป้องสิ่งของที่มีค่าหรือแตกง่าย แต่ศิลปินกลับฉีดสีเข้าไปในนั้นแทน มันจึงหมดฟังก์ชั่นในการปกป้องสิ่งอื่น และตัวมันก็กลายเป็นความเปราะบางเสียเอง

Collection of Singapore Art Museum
:Image courtesy of the artist

Collection of the National Museum of Art, Osaka
Photo: Keiichi Sakakura
นิทรรศการ They Do Not Understand Each Other จัดแสดงที่หอศิลป์ Tai Kwun Contemporary ฮ่องกง เข้าชมฟรี ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค. – 13 ก.ย. 2020 จองบัตรล่วงหน้าได้ที่ https://www.taikwun.hk/en/visit/taikwunpass และสำหรับคนไทยที่อยากจะเข้าชมโดยไม่ต้องนั่งเครื่องบินไปฮ่องกง ทางแกลเลอรี่เขาก็เปิดให้เข้าชมแบบ virtual 360 องศาผ่านทางเว็บไซต์ https://www.taikwun.hk/en/ ด้วย
Images courtesy of the artists, Tai Kwun Contemporary, Singapore Art Museum, National Museum of Art, Osaka