Home Escape Siem Reap ศตวรรษที่ 21 และร่องรอยเรื่องเล่าของนครวัด นครธม

Siem Reap ศตวรรษที่ 21 และร่องรอยเรื่องเล่าของนครวัด นครธม

IMG_6449

ไม่เห็นเคยรู้มาก่อนว่าเสียมเรียบเป็นเมืองที่น่าสนใจขนาดนี้ทั้งที่อยู่ใกล้เมืองไทยแค่นิดเดียว

ความเก๋ของเมืองนี้ ถ้าเกริ่นให้ฟังคร่าวๆ ก็อย่างเช่น เป็นที่ตั้งของนครวัด นครธม สิ่งมหัศจรรย์ของโลก, เป็นเมืองที่มีสองชื่อ ‘เสียมเรียบ’ กับ ‘เสียมราฐ’, เป็นเมืองที่เก็บภาษีแอลกฮอลล์ต่ำมากกก จนทำให้เบียร์ราคาแก้วละ 1 ดอลลาร์, นวดเท้าตามข้างทางก็ 1 ดอลลาร์

เมืองนี้เป็นเมืองท่องเที่ยว มีความอินเตอร์สูง เราสามารถซื้อของด้วยแบงค์ US Dollar เงินบาท หรือเงินเรียลของกัมพูชาก็ได้ แต่เงินที่คุ้มค่าสุดคือดอลลาร์ ซึ่งเขาจะรับเฉพาะแบงค์เท่านั้น ไม่รับเหรียญ เวลาจ่าย ถ้าต้องมีทอน เขาจะคำนวณเศษและทอนมาด้วยเงินเรียลของกัมพูชาให้เอง (เอ้ออ ซับซ้อนไปอีก)

อาหารการกินคล้ายๆ ของไทย แต่รสชาติจะไม่เข้มข้นเท่า, เมืองนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของสยาม (ประเทศไทยในสมัยก่อน) ซึ่งเราได้เสียดินแดนไปให้กับฝรั่งเศสในสมัยรัชกาลที่ 5 นอกจากนี้ความเก๋อีกอย่างก็คือคนที่นี่ดูละครไทยกันทั่วเมือง รู้จักดาราไทยเยอะมาก ชอบเมืองไทยและเรียนรู้ภาษาไทยจากในละครนี่แหละ

เอาล่ะนี่เป็นเพียงน้ำย่อยจากการที่เรามาสัมผัสเสียมเรียบไม่กี่วัน แต่ก็ทำให้เราเปลี่ยนความคิดที่มีเกี่ยวกับเขมรไปอย่างสิ้นเชิงเลย

สนามบินเสียมเรียบ แค่ป้ายก็ดูขลัง

การเดินทางมาเสียมเรียบ สำหรับคนไทยแล้วถือว่าง่ายมาก สามารถนั่งรถทัวร์จากหมอชิตก็ใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมง แต่เดี๋ยวนี้เขามีบินตรง อย่างแอร์เอเชียจากดอนเมืองถึงสนามบินเสียมเรียบก็ถือว่าราคาย่อมเยาสุด ใช้เวลาเพียง 50 นาทีเท่านั้น ใกล้กว่าไปเชียงใหม่หรือภูเก็ตอีกเนี่ย (ในทริปนี้ เราเจอเพื่อนใหม่จากอินโดฯ นางเดินทางมาจากจาการ์ตา ไม่มีไฟลท์บินตรง ต้องนั่งมาลงกรุงเทพฯ ใช้เวลา 3 ชั่วโมงครึ่ง นั่งรอทรานซิทอีก 5 ชั่วโมง เพราะเวลาบินไม่ดีไม่งาม ก่อนจะต่อมายังเสียมเรียบอีก 1 ชั่วโมง โอ้โฮ! รวมแล้ว 9 ชั่วโมง นี่ไปยุโรปป่ะเนี่ย)

อ้อ! ลืมบอกว่าคนไทยไม่ต้องทำวีซ่า สามารถเข้ามาเที่ยวในกัมพูชาได้ไม่เกิน 14 วัน (รู้สึกเป็นโชคดีของคนไทยก็คราวนี้ เดินทางก็ง่าย ค่าวีซ่าก็ไม่ต้องเสีย)

ตกลง “เสียมเรียบ” หรือ “เสียมราฐ”?

เอาเรื่องแรกก่อน สรุปเราควรจะต้องเรียกชื่อเมืองนี้ว่ายังไง ทำไมต้องมี 2 ชื่อ

เรื่องก็มีอยู่ว่า…ทั้งสองชื่อนี้ต่างก็มีความหมายโดยนัยทั้งคู่ “เสียมเรียบ” >> “เสียม” มาจากคำว่า “สยาม” หมายถึงสยามแพ้เมื่อครั้งอดีตที่มีการสู้รบกัน แต่ต่อมาเมื่อสยามยกทัพไปอีกครั้งแล้วเป็นฝ่ายชนะ เราจึงตั้งชื่อให้ที่นี่ใหม่ว่า “เสียมราฐ” หมายถึง ส่วนหนึ่งของประเทศสยาม

ชาวท้องถิ่น รวมถึงในภาษาอังกฤษที่พวกฝรั่งเรียกกัน เขาจะเรียกว่า ‘เสียมเรียบ’(Siem Reap)

มีแต่เฉพาะในภาษาไทยเท่านั้นที่เรียกว่า ‘เสียมราฐ’

สิ่งที่ตลกก็คือ ตอนขึ้นเครื่องบินจากเมืองไทย ป้ายทุกที่ทั้งตรงเคาน์เตอร์เช็คอินไปจนถึงหน้าเกท ภาษาไทยจะเขียนชื่อเมืองจุดหมายปลายทางว่าเสียมราฐ แต่พอไปถึงกัมพูชาแล้ว จะกลายเป็นเสียมเรียบทันที ก็เอาเป็นว่ายุคนี้แล้ว ใครจะเรียกอย่างไรก็ได้ ไม่มีใครว่ากัน เข้าใจตรงกันก็พอว่ามันคือเมืองเดียวกัน

เวลาท้องถิ่นของเสียมเรียบกับเมืองไทยเท่ากันเป๊ะ ปลั๊กไฟที่ใช้ก็เหมือนกัน ไม่ต้องปรับตัวอะไรมาก บรรยากาศของที่นี่ก็คล้ายๆ ต่างจังหวัดของไทยแหละ ยกเว้นโซนในเมืองที่เจริญขึ้นมาหน่อย ก็จะมีตึก มีร้านที่ตกแต่งแบบฝรั่งๆ หน่อย แต่เขาไม่มีรถเมล์ ไม่มีขนส่งสาธารณะอะไรเลย ชาวบ้านส่วนใหญ่ไปไหนมาไหนด้วยมอเตอร์ไซค์ ส่วนนักท่องเที่ยว ก็จะมีตุ๊กตุ๊กคอยให้บริการ เขาเรียกตุ๊กตุ๊กเหมือนบ้านเรา แต่หน้าตาต่างไปนิดหน่อย นั่งได้ 5-6 คน

ที่พัก-ที่เที่ยว-ที่กิน

เราพักที่ Shinta Mani Angkor by Bensley Collection อยู่ในดาวน์ทาวน์ บนถนนเล็กๆ ซอยหนึ่งที่เงียบสงบ เป็นถนนที่น่ารักเลยทีเดียว เพราะข้างทางถูกตกแต่งด้วยต้นลีลาวดี

Shinta Mani อยู่ห่างจากสนามบินเพียง 20 นาที และก็อยู่ไม่ไกลจาก Pub Street สถานที่ท่องเที่ยวยามค่ำคืนที่หน้าตาเหมือนถนนข้าวสาร มีตลาดขายของ มีถนนคนเดิน มีร้านอาหาร ร้านนวดสปาปลา (เด๋วนะ นี่ไม่ใช่ข้าวสารจริงๆ เนอะ)

คนเขมรแนะนำผับชื่อ Temple แม้ว่าจะดูย้อนแย้งไปหน่อย เป็นผับ แต่ชื่อแปลว่าวัด แต่เขาบอกว่าเป็นร้านที่ป็อปปูลาร์สุด ทั้งคนท้องถิ่นแล้วก็ต่างชาติมากันเยอะ เปิดเพลงป็อปฝรั่ง อาหารใช้ได้ อีกร้านนึงที่คนเยอะไม่แพ้กันชื่อ Angkor What? ส่วนเบียร์ที่นี่ยี่ห้อที่ฮอตสุดคือ Angkor โลโก้เป็นรูปนครวัด

The Temple ผับที่ฮอตที่สุดสำหรับคนท้องถิ่น
Angkor What? คืออีกผับหนึ่งที่ฮอตไม่แพ้กัน

Pub Street สำหรับเรา เอาไว้ไปกินอาหาร นั่งสังสรรค์ จะดีกว่าช็อปปิ้ง เพราะของที่มาขายก็เหมือนของไทยเลย เหมือนเดินข้าวสารผสมจตุจักร แต่ของไทยดีกว่า เยอะกว่า ก็เลยไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องซื้อจากที่นั่น

แต่ถ้าเป็นสไตล์ร้านกาแฟ ขอแนะนำให้ไปเดินที่ Kandal Village ที่นั่นมีทั้งร้านขายงานฝีมือ (ที่อาจจะราคาไม่ถูกเท่าไร เพราะเน้นขายนักท่องเที่ยวฝรั่ง) แต่มีคาเฟ่ชิคๆ ให้ไปนั่งชิลเพียบ

นครวัด นครธม ไฮไลท์ของเมืองเสียมเรียบที่ไม่ไปดูไม่ได้

มาถึงไฮไลท์ของการท่องเที่ยวเสียมเรียบ ยังไงก็ไม่พ้นมรดกโลกอย่างนครวัด นครธม ก็เขายิ่งใหญ่ถึงขนาดได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลก แถมมีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวโยงกับไทยมาหลายยุคหลายสมัย ถ้าคนไทยไม่ไปดูซักหน่อย ชีวิตนี้ถือว่ายังตายไม่ได้นะ เหมือนที่อาร์โนลด์ ทอยน์บี นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ เคยกล่าวไว้ว่า “See Angkor Wat and die”

นครวัด นครธม สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 17 สมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 โดยเกณฑ์คนเป็นหมื่นๆ และช้างเป็นโขลงๆ แบกหินมาจากเขาพนมกุเลน ซึ่งห่างไปจากตรงนี้กว่า 50-60 กิโลเมตร สร้างเป็นปราสาทหินขนาดใหญ่ แกะสลักเรื่องราวทางวัฒนธรรมความเป็นอยู่ในยุคนั้นๆ รวมถึงความเชื่อทางศาสนา ขุดคลองขนาดใหญ่ล้อมรอบปราสาท โดยมีต้นแบบมาจากเขาพระสุเมรุที่เชื่อว่าเป็นศูนย์กลางของจักรวาล และเป็นที่อยู่ของเหล่าเทพยดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นั่นก็เพราะเขาเชื่อกันว่ากษัตริย์ขอมคือเทพที่อวตารลงมาปกครองโลกมนุษย์

ตั๋วเขามีหลายแบบ One Day Pass จะอยู่ที่ 37 ดอลลาร์ /3-Day Pass ราคา 62 ดอลลาร์ / 7-Day Pass ราคา 72 ดอลลาร์ ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี เข้าได้ไม่เสียค่าเข้าชม พอจ่ายตังเสร็จ เขาก็จะถ่ายรูปเราติดบัตรเข้าชมเอาไว้เลย เวลาเดินเข้าปราสาทแต่ละที่ ก็หยิบบัตรขึ้นมาโชว์ ดังนั้นห้ามทำหาย

ก่อนไป อยากให้ศึกษาดีๆ ว่าเราอยากเข้าชมปราสาทอะไรบ้าง เพราะพื้นที่กว้างใหญ่มาก เราไม่สามารถชมให้ครบทุกแห่งได้ในวันเดียว และช่วงเช้ากับช่วงเย็นที่พระอาทิตย์กำลังขึ้นและตกถือเป็นช่วงเวลาที่งดงามที่สุด ดังนั้นก็จะเป็นช่วงที่คนเยอะมากๆ ด้วย เขาเปิดตั้งแต่ตี 5 ใครตื่นไหวก็ไปเลย ส่วนเราไปตอน 10 โมงเช้า แม้ว่าจะถ่ายรูปไม่สวยเท่า แสงแข็งไปหน่อย แต่ไม่ต้องหงุดหงิดกับผู้คนมหาศาล

นครธมจะใหญ่กว่านครวัด ด้านในประกอบไปด้วยปราสาทต่างๆ มากมาย เช่น ปราสาทบายนที่แกะสลักหินเป็นรูปใบหน้าอยู่ทั้งสี่ทิศบนยอดปราสาท แฝงรอยยิ้มที่อ่อนช้อยทั้งๆ ที่ปรากฏอยู่บนหิน

ต่อด้วยปราสาทบันทายสรีที่สร้างจากหินสีชมพู, ปราสาทตาพรหม ซึ่งถูกใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำหนังเรื่อง Tomb Rider ฯลฯ ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นเราแนะนำว่าให้ไปเลือกชมปราสาทต่างๆ ในนครธมให้พอใจก่อน แล้วค่อยมาปิดท้ายที่นครวัดเป็นจุดสุดท้าย ก็จะรู้สึกคอมพลีต

ถ้าสังเกตลายเสื้อผ้าที่สวมใส่ จะเห็นว่าคล้ายกับลายโมโนแกรมทั้งที่เป็นลายตารางหมากรุกกับลายโมโนแกรมแคนวาสที่เป็นดอกไม้ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของแบรนด์หลุยส์ วิตตอง

เรื่องความละเอียด ประณีต และยิ่งใหญ่อลังการ คงไม่ต้องพูดถึงแล้ว มีคนเคยเขียนถึงไปแล้วมากมาย แต่สิ่งที่เราอยากพูดถึงก็คือความชาญฉลาดทางด้านสถาปัตยกรรมของคนยุคก่อน อย่างเช่น การเจาะหินเป็นทางไหลของน้ำ เพื่อระบายน้ำเวลาที่ฝนตก จากชั้นปราสาทด้านบน ลงไปด้านล่าง, วิธีการซ้อนหินที่มีการคำนวณสัดส่วนเป็นอย่างดี บางจุดเราเอามือถือไปวางที่พื้นแล้วเปิดกล้องหน้า จะเห็นเส้นสายของเพดาน หลังคาที่เป็นสมมาตรกันไปหมด, ทิศทางลม ทิศทางแสง ทุกอย่างถูกคิดมาอย่างละเอียด เราจะเห็นบางช่วงที่แสงอาทิตย์สาดทะลุประตูที่ซ้อนกันหลายๆ ชั้นเป็นทางยาว งดงามมาก และบางซอกบางหลืบของปราสาท เราก็จะรู้สึกลมพัดผ่าน ถ่ายเทสะดวก แม้จะไม่มีแอร์สักเครื่องในปราสาทหิน แต่ก็ไม่ร้อนเลย

และที่สำคัญก็คือร่องรอยที่ยังเหลือมาจนถึงทุกวันนี้ ถึงแม้ว่าสภาพจะไม่ได้สมบูรณ์ 100% ก็ยังยิ่งใหญ่มากขนาดนี้ เราจินตนาการแทบไม่ออกเลยว่าในยุคนั้น ท่ามกลางป่าเขา ท่ามกลางบ้านเมืองที่ยังไม่มีเทคโนโลยีหรือตึกรามบ้านช่องเยอะเหมือนทุกวันนี้ ปราสาทแห่งนี้จะโดดเด่นเป็นสง่าเหมือนสรวงสวรรค์มากแค่ไหน

ลองคิดถึงวันที่มีคนฝรั่งเศสสมัยล่าอาณานิคม เดินเข้าไปบังเอิญเจอปราสาทที่ถูกทิ้งร้างมาเป็นร้อยๆ ปี ยิ่งเดินไป ก็ยิ่งเจอแต่ความยิ่งใหญ่และความลึกลับน่ามหัศจรรย์ จนต้องกลับออกมาเขียนบันทึกในหนังสือไว้หลายเล่ม เราว่าความรู้สึกเขาตอนนั้นคงจะต้องขนลุกมากที่ไปบังเอิญเจออะไรแบบนี้

และสำหรับทุกวันนี้เอง เมืองเสียมเรียบก็มีกฏห้ามสร้างตึกที่สูงกว่านครวัด นครธม เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความเคารพและความศรัทธาทางศาสนาที่ยังคงแข็งแกร่ง

ความพยายามในการนำชิ้นส่วนหินแกะสลักมาปะติดปะต่อกันแบบผิดๆ ถูกๆ แสดงถึงความไม่สมประกอบ

ในส่วนที่พูดถึงความไม่สมบูรณ์ก็อย่างเช่น ต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นแทรกไปกับก้อนหิน จนบางจุดก็โดนรากไม้เบียดซะถล่มไปเลย แต่บางจุดมันก็ยังอยู่ร่วมกันแบบเบียดๆ บังๆ กันไป และตัดก็ไม่ได้ด้วย ถล่มหมดแน่นอน ในขณะที่หินบางก้อนมีร่องรอยของกระสุนปืน จากช่วงที่เกิดสงครามกลางเมือง ที่นี่ถูกแปรเปลี่ยนเป็นสนามรบ มีทหารเข้ามาหลบอยู่ในนี้มากมาย

และนอกจากนั้นก็เป็นความไม่สมบูรณ์ตามกาลเวลาที่ต้องมีผุพังไป ซึ่งทางการกัมพูชา ร่วมกับนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น จีน ไทย ต่างก็เข้ามาร่วมด้วยช่วยกันทำนุบำรุงฟื้นฟูมรดกโลกแห่งนี้อยู่ตลอด เอาเป็นว่าค่าเข้าชมวันละ 37 ดอลลาร์ เลยดูไม่มากไม่มายไปเลย ถ้าเทียบกับค่าใช้จ่ายมหาศาลที่เขาต้องลงทุนกับการเก็บรักษาสิ่งนี้เอาไว้ให้เป็นสมบัติของโลก

ความใหญ่โตของขนาดพื้นที่นครวัด นครธมนั้น จากรั้วทางเข้าปราสาท กว่าจะเดินเข้ามาถึงตัวปราสาทนั้นไกลเป็นกิโลๆ รถยนต์เข้าไม่ได้ ต้องเดินอย่างเดียว ซึ่งอันที่จริงปราสาทพระราชวังอื่นๆ ในโลก ก็ยิ่งใหญ่กว้างขวางแบบนี้เหมือนกัน แต่สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าที่นี่แตกต่างคือความดิบ มันไม่ได้มีการเซ็ตหรือจัดตั้ง เรียกว่าถูกทิ้งร้างหลงลืมไปเลยเป็นหลายร้อยปีด้วยซ้ำ

และถึงแม้ทุกวันนี้จะได้รับการฟื้นฟูใหม่แล้ว แต่ประเทศกัมพูชาเองก็จัดได้ว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนา ไม่ได้มีเงินทุนหรือการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่าอย่างการดูแลรักษาโบราณสถานเหมือนในประเทศพัฒนาแล้ว ผู้คนท้องถิ่นที่เดินอยู่ในเมืองเอง ก็ยังมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ได้มาตรฐานด้วยซ้ำ นับประสาอะไรกับการเอาเงินไปลงทุนกับการดูแลโบราณสถาน แต่ก็อย่างที่เห็น…นครวัด นครธม ยังคงอยู่มาได้ ผ่านวันเวลา ผ่านเรื่องราวมากมายหลายหลาก ทั้งสงครามจากต่างชาติ สงครามจากคนในชาติกันเอง ทั้งช่วงที่ผู้คนถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ล้มตายเป็นล้านๆ คน แต่ปราสาทหินแห่งนี้ยังคงงดงามเสมอในทุกๆ เย็นที่แสงอาทิตย์กำลังจะลาลับขอบฟ้า และสาดแสงสีส้มอ่อนๆ ทะลุประตูปราสาทที่ซ้อนกันอยู่หลายๆ บาน

ตลาดเช้าและวิถีชีวิตแบบบ้านๆ ของผู้คนที่เสียมเรียบ

วันสุดท้ายที่เสียมเรียบ เราออกสำรวจเมืองด้วยการไปตลาดสด และได้เห็นชีวิตของผู้คนที่นี่ แผงขายปลา ขายผัก อยู่ใกล้ๆ กัน และร้านบางโซนเขาก็จะตั้งของกองขายที่พื้นกันแบบง่ายๆ เลย มีหนังสือพิมพ์หรือผ้าใบมาปูแค่นั้น ทุบหัวปลากันตรงนั้น แหวะไส้ไก่กันตรงนั้นเลย โหดมาก เดินๆ อยู่บางทีต้องระวังปลาดุกวิ่งมาขวางหน้า เพราะเขาไม่ได้ใส่กะละมัง ปลาก็จะดิ้นๆ อยู่ที่พื้นเลย มองแล้วสลดหดหู่ใจเบาๆ

ในตลาดหนึ่งก็จะมีขายทั้งอาหารสด และเสื้อผ้า หรือของกระจุกกระจิก รวมอยู่ในที่แห่งเดียว แต่ของก็ส่วนใหญ่มาจากเมืองไทย เราได้ลองกินอาหารเขมรหลายอย่างก็คล้ายๆ อาหารไทย เช่น ห่อหมกปลา ที่นั่นเรียก Amok “อาหมอก”, กุ้งผัดซอสมะขาม หรือต้มยำกุ้ง ส่วนขนม เราติดใจขนมโบราณอันนึงมาก ห่อแป้งขาวๆ เป็นลูกกลมๆ เหมือนลูกชิ้นแต่ข้างในมีไส้ เป็นก้อนหวานๆ และน้ำตาลกรอบๆ คนไทยเรียกว่า ขนมต้มแดง ต้มขาว แต่เราไม่รู้ว่าภาษาเขมรเรียกว่าอะไร

สรุปว่าเสียมเรียบเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่น่าไปเยือนสักครั้ง เสน่ห์ของความเป็นเมืองที่ถูกแย่งกันปกครองไปมาระหว่างประเทศนั้นประเทศนี้ ทำให้ที่นี่มีความอินเตอร์หรือความผสมผสานและหลากหลายอยู่ในตัว และไม่ว่าวันเวลาจะผ่านไปกี่ร้อยกี่พันปี จะมีเรื่องราวอะไรเกิดขึ้นที่นี่มาบ้าง แต่ความศรัทธาทางศาสนาอันแรงกล้าของผู้ที่สร้างปราสาทนครวัด นครธม ขึ้นมา ก็ยังคงอยู่ตรงนั้น ไม่มีวันเสื่อมสลาย

เขียนที่สนามบินเสียมเรียบก่อนกลับบ้าน

7/4/18 เวลา 14.52 น.

อัญวรรณ ทองบุญรอด นักเขียน/นักดนตรี เจ้าของผลงานหนังสือ 'เวียนนา ลาทีโด' นอกจากเล่นเชลโลแล้ว ยังชอบออกเดินทางคนเดียวอยู่เสมอๆ มิวเซียม ตลาดของเก่า ร้านกาแฟ และเมืองที่มีกลิ่นอายวัฒนธรรมเก่าแก่คือสถานที่ที่เธอชอบไป

Exit mobile version