Home Art & Culture ‘ความโด่งดังคนละ 15 นาที’ ภายใต้วัฒนธรรมป็อปของ Andy Warhol ที่ River City Bangkok

‘ความโด่งดังคนละ 15 นาที’ ภายใต้วัฒนธรรมป็อปของ Andy Warhol ที่ River City Bangkok

นี่คืออีกหนึ่งนิทรรศการศิลปะสนุกๆ ที่ถือเป็นไฮไลท์ของปีนี้สำหรับคนไทยเลยก็ว่าได้ เมื่อมีการนำผลงานชิ้นจริง ไม่จกตา ของแอนดี้ วอร์ฮอล (Andy Warhol) กว่า 128 ชิ้น มาจัดแสดงที่ RCB Galleria ชั้น 2 River City Bangkok ภายใต้ชื่อ Andy Warhol: Pop Art

ทางเข้าห้องจัดแสดงนิทรรศการ เปิดมาสวยๆ ด้วยโควทคำพูดของ Andy Warhol

เราเคยเป็นคนหนึ่งที่ตั้งคำถามว่าซุปกระป๋องเรียงๆ กันนี่กลายเป็นศิลปะได้ยังไง ภาพมาริลีน มอนโร ที่เอามาก๊อปปี้ซ้ำๆ แล้วเปลี่ยนสีไปเรื่อยๆ ล่ะ มันดูเป็นศิลปะตรงไหน รวมไปถึงการตั้งคำถามว่าคนที่ไม่ได้ลงมือทำงานศิลปะด้วยตัวเอง แต่จ้างวานหรือบอกให้คนอื่นทำแทน เขาควรถูกเรียกว่าศิลปินหรือเปล่า

จนกระทั่งได้ทำความรู้จักเบื้องหลังเรื่องราวของแอนดี้ วอร์ฮอล (Andy Warhol) ศิลปินผู้โด่งดังในยุคศตวรรษที่ 20 กับซิกเนเจอร์ของความเป็นศิลปะป็อปอาร์ตของเขา จึงได้เข้าใจถึงบทบาทของศิลปะกับการเสียดสีและล้อกับบริโภคนิยม ว่านั่นคือเหตุผลที่เขาเรียก ‘แนวคิด’ ของวอร์ฮอลว่า ‘ศิลปะ’

บรรยากาศในห้องจัดแสดงนิทรรศการ Andy Warhol: Pop Art ที่ River City Bangkok

ห้องจัดแสดงนิทรรศการที่ริเวอร์ ซิตี้ แบ่งออกเป็นโซน ความน่าขนลุกคือการได้เห็นผลงานจริงของแอนดี้ วอร์ฮอล แบบใกล้ๆ แบ่งประเภทเป็นภาพพอร์เทรต ภาพถ่ายคนดัง ภาพงานออกแบบบนนิตยสารและปกอัลบั้ม การพิมพ์ภาพแบบซิลค์พรินติ้ง และงานประติมากรรม ทำให้บรรยากาศทั่วทั้งงานเต็มไปด้วยสีสันสดใส ตามสไตล์ป็อปๆ ของศิลปินที่หยิบเอากระแสวัฒนธรรมมาเสียดสีกับเรื่องบริโภคนิยม ซึ่งเป็นสิ่งที่เริ่มเข้ามามีอิทธิพลในการใช้ชีวิตประจำวันในยุคของเขา

ที่มาของซุปกระป๋องแคมป์เบลที่กลายเป็นงานศิลปะ

ที่จริงแล้ว ตั้งแต่ยุค 50s-60s มา มีศิลปินหลายคนในโลกที่หยิบยกเอาเรื่องบริโภคนิยมมาเล่น เพราะเป็นช่วงที่โลกของเรากำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมแบบเต็มตัวมากขึ้นเรื่อยๆ การผลิตแบบแมสหรือผลิตจำนวนครั้งละเยอะๆ นำไปสู่การซื้อเยอะๆ กระทั่งนำไปสู่ประเด็นในเรื่องของการโฆษณาสินค้าต่างๆ ในหลายรูปแบบ รวมไปถึงการใช้ภาพของดาราเซเลบที่ถูกยกย่องราวกับพระเจ้า เพียงเพื่อจุดประสงค์ของการโปรโมทขายสินค้าบางอย่าง

ในยุคของวอร์ฮอล การที่มีสินค้าอย่างซุปกระป๋องเรียงๆ กันเป็นแถวบนเชลฟ์ในซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นภาพใหม่ที่ผู้คนยังไม่คุ้นชิน แต่นั่นหมายถึงการเข้ามาของวัฒนธรรมบริโภคนิยม มีรถเข็นในซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ ให้คนเข้าไปใส่ของทีละเยอะๆ แล้วบางทีก็ซื้ออะไรเกินความจำเป็น ซึ่งนั่นคือที่มาของภาพซุปกระป๋องแคมป์เบลอันเลื่องชื่อของแอนดี้ วอร์ฮอล

วอร์ฮอลเองก็เคยบอกว่า ภาพซุปกระป๋องแคมป์เบลนั้นเป็นผลงานที่ตัวเขาเองโปรดปรานมากที่สุด เพราะมันกลายเป็นสัญลักษณ์ เป็นหลักไมล์ในอาชีพของวอร์ฮอล และเป็นรอยต่อสำคัญจากการวาดภาพด้วยมือ มาเป็นการใช้เทคนิคทรานส์เฟอร์จากภาพถ่าย แต่ก่อนที่กระป๋องซุปนี้จะกลายเป็นตัวแทนของบริโภคนิยม จุดเริ่มต้นมันมาจากการที่เขาหวนคิดถึงชีวิตวัยเด็กอันยากจนในเพนซิลวาเนีย ช่วงนั้นเขาต้องกินเจ้าซุปกระป๋องนี่เป็นอาหารกลางวันเกือบทุกวัน มันย้ำเตือนถึงชีวิตประจำวันในตอนนั้น และก็ความอบอุ่นในครอบครัวด้วย

ด้วยซุปกระป๋องง่ายๆ นี้ วอร์ฮอลแตกความคิดออกไปเป็นงานศิลปะหลายต่อหลายชิ้น เริ่มจากภาพวาดบนผืนผ้าใบ 32 ภาพที่มีขนาดเหมือนกันทั้งหมด แต่ละภาพนั้นเลียนแบบซุปกระป๋องจริงๆ แตกต่างกันแค่รายละเอียดบนฉลากของแต่ละกระป๋อง และเอามาจัดเรียงเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ เพื่อเลียนแบบการจัดวางในซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งการทำซ้ำๆ ต่อเนื่องแบบนี้ ก็กลายเป็นซิกเนเจอร์ในการทำงานของวอร์ฮอลไปเลย

นอกจากภาพวาด เขาก็ยังทำผ้ากันเปื้อนซุปแคมป์เบลล์ไซส์ใหญ่ พิมพ์ลายลงบนผ้าฝ้ายและเส้นใยเซลลูโลส, ชุดเดรสทรง A พิมพ์ลายซิลค์สกรีนรูปซุปกระป๋อง มีแถบรอบคอและแขนเสื้อ เป็นแขนกุดและไม่มีซิปหลัง, ทำถุงช็อปปิ้งลายซุปกระป๋องและใส่สีนีออนฉูดฉาดในโลโก้ของบริษัท ซึ่งทำเป็นลิมิเต็ดเอดิชั่น จนถุงนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการบรรจบกันระหว่างวัฒนธรรมชั้นสูงและป็อปอาร์ต ระหว่างลัทธิบริโภคนิยมและรสนิยมหรูหรา รวมไปถึงระหว่างสิ่งที่หาได้ยากกับสิ่งที่มีอยู่ทั่วไปในทุกหนแห่ง

อิทธิพลของภาพคนดัง กล่องสบู่ เงินตรา และตั๋วเครื่องบิน

วอร์ฮอลไม่ได้เล่นแค่กับซุปกระป๋อง แต่ยังเล่นกับขวดโคคา โคล่า กล่องสบู่ยี่ห้อบริลโล ธนบัตร 500 ดอลลาร์ ตั๋วเครื่องบินของสแกดิเนเวียนแอร์ไลน์ และตั๋วเที่ยวชมลินคอล์นเซ็นเตอร์ ทั้งหมดสะท้อนถึงการเอาวัตถุที่หาได้ทั่วไปในชีวิตประจำวันมาทำให้กลายเป็นงานศิลปะ ด้วยเทคนิคการออกแบบต่างๆ กันไป อย่างการทำซ้ำ การใส่สีสันฉูดฉาด เพื่อเปลี่ยนให้ความดาษดื่นสามัญกลายเป็นความน่าสนใจและสวยงามราวบทกวี

ในส่วนของภาพโฆษณาและการใช้ภาพคนดังนั้นก็สื่อถึงเรื่องภาพลักษณ์ซึ่งเป็นสิ่งแบรนด์สินค้าให้ความสำคัญ ภาพหน้าของดาราที่แปะประทับอยู่บนฉลากสินค้านั้นมีอิทธิพลราวกับพระเจ้า แม้กระทั่งดาราที่เสียชีวิตไปแล้วอย่างมาริลีน มอนโร ยังถูกแบรนด์สินค้าเอามาพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า วอร์ฮอลจึงนำภาพคนดังมาพิมพ์ซ้ำในหลายๆ สี จากสีฉูดฉาดไปจนถึงภาพขาวดำ สื่อถึงความเป็นอมตะของไอคอนเหล่านี้ นอกจากภาพมาริลีน มอนโรแล้ว วอร์ฮอลยังเคยใช้ภาพของเอลวิซ เอลิซาเบธ เทย์เลอร์ และท่านประธานาธิบดี เหมา เจอ ตุง ก่อนจะใช้ภาพของตัวเองเป็นดาราเสียเองในช่วงยุค 80s กับภาพ Self Portrait (1987) และภาพนั้นก็ถูกจัดวางไว้ในห้องสุดท้ายของนิทรรศการครั้งนี้

แนวคิดในเรื่องของภาพลักษณ์ ชื่อเสียง ความเป็นไอคอน และบริโภคนิยม ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ แม้วอร์ฮอลจะจากเราไปแล้ว แต่ด้วยถ้อยคำที่เขาเคยทำนายตั้งแต่ยุคของเขาว่า ‘ในอนาคต ทุกคนจะมีโอกาสมีชื่อเสียงระดับโลกคนละ 15 นาที’ ก็ยังคงสะท้อนวัฒนธรรมป็อปได้อย่างดี โดยเฉพาะเมื่อมันเกิดขึ้นจริงในยุคนี้ ที่ทุกคนมีโซเชียลมีเดียอยู่ในมือ และอยากจะโพสแสดงอะไรตอนไหนก็ทำได้

นิทรรศการ Andy Warhol: Pop Art ได้นำภาพผลงานจริงของแอนดี้ วอร์ฮอล กว่า 128 ชิ้น มาจัดแสดงที่ RCB Galleria ชั้น 2 River City Bangkok ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม – 24 พฤศจิกายน 2020 บัตรเข้าชมราคา 400 บาท (ผู้ใหญ่) และ 300 บาท (นักเรียน นักศึกษา และผู้สูงอายุ) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.rivercitybangkok.com และซื้อบัตรได้ที่ https://www.ticketmelon.com/rivercitybangkok/andywarhol

นักเขียน/นักดนตรี ที่นอกจากเล่นเชลโลแล้ว ยังชอบออกเดินทางคนเดียวอยู่เสมอๆ มิวเซียม ตลาดของเก่า ร้านกาแฟ และเมืองที่มีกลิ่นอายวัฒนธรรมเก่าแก่คือสถานที่ที่เธอชอบไป

NO COMMENTS

Leave a ReplyCancel reply

Exit mobile version