Home Travel Tips รีวิวรถบัสสนามบินใน 4 เมืองท่องเที่ยว ปารีส สิงคโปร์ จาการ์ตา และกรุงเทพฯ

รีวิวรถบัสสนามบินใน 4 เมืองท่องเที่ยว ปารีส สิงคโปร์ จาการ์ตา และกรุงเทพฯ

final ปรับสี bus

การเดินทางเข้าออกสนามบินในแต่ละประเทศมีรูปแบบที่แตกต่างกัน ตั้งแต่รถไฟด่วน รถไฟธรรมดา ลิมูซีน รถแท็กซี่ ไปจนถึงรถเมล์ แน่นอนว่าแท็กซี่ช่วยให้เราสะดวกสบายในเรื่องของการขนสัมภาระและเข้าถึงปลายทางได้โดยไม่ต้องเดินต่อ ในขณะที่รถไฟเองก็ควบคุมเรื่องเวลาได้แน่นอนเพราะไม่ต้องกังวลเรื่องสภาพการจราจร

แต่ใช่ว่าออปชั่นการเดินทางเหล่านี้จะราบรื่นไปซะทั้งหมดสำหรับทุกเมือง เพราะอย่างในสวิตเซอร์แลนด์ ขึ้นแท็กซี่ทีก็ทำให้เรารู้สึกกระเป๋าตังเบาหวิว ส่วนรถไฟแอร์พอร์ตของปารีสก็ขึ้นชื่อเรื่องพวกล้วงกระเป๋าที่มาแฝงตัวอยู่ในขบวนโดยมีเป้าหมายเป็นนักท่องเที่ยวที่หอบสัมภาระเยอะๆ และไม่ทันระวังตัว

ดังนั้นรถเมล์ก็น่าจะเป็นอีกตัวเลือกนึงที่นักเดินทางสายลุยควรเก็บไว้พิจารณา เพราะในบางประเทศ การใช้บริการรถบัสแอร์พอร์ตก็เวิร์กมากๆ

วันนี้ La Vie en Road จะมาแชร์ประสบการณ์ส่วนตัว การใช้แอร์พอร์ตบัสใน 4 เมืองท่องเที่ยวอย่างปารีส สิงคโปร์ จาการ์ตา และกรุงเทพฯ พร้อมให้คะแนนจากมากไปน้อย ที่ไหนเวิร์ก ที่ไหนพัง ไปดูกัน!

1.สิงคโปร์

5 ดาว

Changi Airport

เริ่มจากประเทศที่เราคิดว่ามีระบบขนส่งสาธารณะที่เวิร์กที่สุด นั่นก็คือสิงคโปร์ หลายๆ คนน่าจะขึ้นรถไฟ MRT ไป-กลับแอร์พอร์ตที่สิงคโปร์จนชินและกลายเป็นทางเลือกที่คนส่วนใหญ่ใช้เดินทางไป-กลับแอร์พอร์ตมากที่สุด เพราะทั้งง่ายสะดวกรวดเร็ว ใช้เวลาเดินทางเข้าตัวเมืองแค่ประมาณ 30 นาทีเท่านั้น ในราคาแค่ 1.9 SGD เรียกว่าถูกที่สุดในบรรดาตัวเลือกการเดินทางทั้งหมด แต่ข้อเสียคือมีเวลาวิ่งตั้งแต่ 05.00-23.18 เท่านั้น และไม่มีที่สำหรับวางกระเป๋า

ถ้าหากว่าไฟลท์บินเราไม่ได้มาในช่วงเวลาให้บริการของรถไฟ หรือโรงแรมที่จองไว้ไม่ได้อยู่ใกล้กับสถานีรถไฟ MRT รถเมล์คืออีกหนึ่งทางเลือก นั่นก็คือรถเมล์สาย 36 ที่วิ่งเชื่อมระหว่าง Changi Airport กับใจกลางเมืองสิงคโปร์ มีรถออกหลายคันในแต่ละชั่วโมง นั่งรอที่ชั้นล่างของสนามบิน เดินตามป้ายรถเมล์ไปเรื่อยๆ แป๊บเดียวรถก็มา ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงก็จะถึงในเมือง ค่าโดยสาร 2 SGD ซึ่งต้องเตรียมเงินให้พอดีเพราะไม่มีทอน (หรือเพียง 1.3 SGD เท่านั้นสำหรับผู้ใช้บัตร EZ link) ที่สำคัญจะมีตัวอักษรโชว์ขึ้นที่หน้ารถด้วยว่าขณะนี้อยู่ป้ายอะไร และป้ายหน้าคือที่ไหน รับรองไม่มีหลง

บอก Tips นิดนึงว่าธรรมเนียมการขึ้นรถเมล์ของที่นี่ คือต้องขึ้นประตูหน้า และลงประตูหลังนะจ๊ะ

——————————————

2.ปารีส

4 ดาว

Charles de Gaulle Airport

จากสนามบินชาร์ลส์ เดอ โกลล์ เราสามารถเดินทางด้วยรถไฟ RER สาย B สีฟ้า เข้าเมืองก็ได้ ใช้เวลาประมาณ 35 นาที ราคา 11.4 ยูโร แต่ถ้าเราหอบสัมภาระเยอะแยะ มันจะทุลักทุเลมาก โดยเฉพาะบนบันไดเลื่อนในสถานีรถไฟใต้ดิน ซึ่งจะบอกว่าบางสถานีก็ไม่มีบันไดเลื่อนอีกต่างหาก อย่างเช่น Chatelet les Halles สถานีใหญ่ที่ทุกคนที่มาจากแอร์พอร์ตมักจะต้องไปเปลี่ยนขบวนที่นั่น เดินก็ไกล บางจุดก็ไม่มีบันไดเลื่อน แถมเวลาเมโทรมา ยังต้องรีบเคลื่อนย้ายสัมภาระให้เร็วทันก่อนประตูจะปิด อ้อแล้วยังไม่พอ ยังต้องระวังพวกมิจฉาชีพล้วงกระเป๋าด้วยจ้า เฮ้อออ… คือแบบตายก่อนเถอะ

เพื่อเป็นการตัดปัญหาดังกล่าวออกให้หมด วิธีที่เราใช้เข้าเมืองปารีสเป็นประจำจึงเป็นรถบัสค่ะ เพราะมีที่ให้วางกระเป๋า ขึ้นแล้วได้ที่นั่งก็ยาวไปเลย และไม่ได้เบียดเสียด จึงหมดกังวลเรื่องขโมยขโจรไปได้เปราะนึง

รถบัสที่ให้บริการระหว่างสนามบินกับในตัวเมืองปารีสมีอยู่หลายเจ้า ที่คนรู้จักเยอะๆ ก็คือ Le Bus Direct สาย 2 ที่ผ่านเข้ากลางเมืองปารีส ส่วนสาย 3 สำหรับนั่งไปต่อที่สนามบิน Orly และสาย 4 สำหรับผู้ที่จะไปสถานีรถไฟ Gare de Lyon และ Gare de Montparnasse ราคา 17 ยูโร

แต่เจ้าที่เราเลือกใช้บริการบ่อยที่สุด คือ รัวซี่บุส (Roissy Bus) ซึ่งจะมีจุดขึ้นรถอยู่หลายที่ในสนามบิน ได้แก่ เทอร์มินัล 1, 2A-2C, 2 D, 2E, 2F และเทอร์มินัล 3 ขึ้นอยู่กับว่าเราแลนดิ้งที่เทอร์มินอลเท่าไร ใกล้ตรงไหนก็เดินไปตรงนั้น เขาจะมีป้ายบอกชัดเจนมาก หาคำว่า Roissy Bus เอาไว้

Roissy Bus มีค่าบริการ 12.5 ยูโร ซื้อตั๋วบนรถกับคนขับได้เลย โดยรถจะไปสุดสายที่ Opera ใจกลางเมือง ที่ตรงนั้นจะเชื่อมกับเมโทรและรถเมล์สายอื่นๆ มากมาย หรือจะใช้บริการแท็กซี่อูเบอร์ไปที่โรงแรมเลยก็ราคาไม่แพงแล้วเนื่องจากอยู่ในเมือง ถูกกว่านั่งมาจากสนามบินหลายโข การเดินทางจากสนามบินเข้าเมืองของ Roissy Bus ใช้เวลาประมาณ 50 นาที ขึ้นอยู่กับสภาพการจราจรด้วย (ต้องบอกว่าปารีสในเวลาเร่งด่วน เช้ากับเย็น ก็รถติดไม่ใช่เล่น บีบแตรกันสนุกสนานเหมือนกัน) ถ้าขากลับมาสนามบิน จะเอาเซฟๆ ก็ควรเผื่อเวลาก่อนเครื่องออกสัก 3 ชั่วโมง

เวลาให้บริการของ Roissy Bus จากตัวเมืองปารีส 05.15-00.30น. มีรถวิ่งทุกๆ 15-30 นาที / จากสนามบิน 06.00-00.30น. มีรถวิ่งทุกๆ 20-30 นาที

นอกจากนี้ยังมีรถบัสทั่วไปที่วิ่งผ่านสนามบิน ได้แก่ สาย 350 สุดสายที่ Gare de L’Est และสาย 351 สุดสายที่เมโทรสถานี Nation ซึ่งราคาค่าโดยสารจะถูกที่สุด เพียง 6 ยูโร แต่ไม่มีที่วางกระเป๋าและใช้เวลานานกว่าจะถึงเพราะแวะป้ายต่างๆ ตามรายทาง ราวๆ 70-90 นาทีกว่าจะถึงใจกลางเมือง

——————————————

3.กรุงเทพฯ

3 ดาว

ต้องบอกก่อนว่าปกติแล้ว เรามักจะใช้วิธีเดินทางไปกลับสนามบินด้วยรถส่วนตัว หรือไม่ก็แท็กซี่เป็นหลัก ด้วยความที่บ้านอยู่ชานเมืองและไม่สะดวกกับขนส่งสาธารณะเลย รถส่วนตัวก็จะทั้งประหยัดกว่า เร็วกว่า แล้วก็คุมเวลาได้ดีกว่า ซึ่งเชื่อว่าหลายๆ คนเวลาเดินทางไปสนามบินในกรุงเทพฯ ก็มักจะใช้รถยนต์หรือแอร์พอร์ตลิงค์เป็นหลักเช่นกัน น้อยคนมากๆ ที่จะนึกถึงรถเมล์ จนบางคนก็สงสัย เอ๊ะ บ้านเรามีรถเมล์เข้าออกสนามบินด้วยเหรอ

Suvarnnabhumi Airport

ขอเริ่มต้นจากสนามบินสุวรรณภูมิก่อน ด้วยความที่เป็นสนามบินนานาชาติ มีเที่ยวบินและสายการบินเยอะกว่า ต้องบอกว่าที่นี่ก็มีรถเมล์ค่ะ แต่ที่คนไม่ค่อยรู้และไม่ค่อยใช้กัน เป็นเพราะว่าสถานีรถไม่ได้อยู่เชื่อมกับอาคารผู้โดยสารหลัก (Passenger Terminal) แต่ตั้งอยู่ที่ศูนย์ขนส่งสาธารณะ (Public Transportation Center) ซึ่งจะต้องนั่งรถชัตเทิลบัสจากตัวสนามบินออกไปอีก

ที่ศูนย์ขนส่งสาธารณะนี้เอง ที่รวมรถเมล์ รถทัวร์เอาไว้เยอะมาก หน้าตาเหมือนหมอชิตเบาๆ เพราะมีช่อง มีเลน ให้รถทัวร์และรถเมล์เข้ามาจอดตรงแต่ละป้ายที่ระบุจุดหมายปลายทางต่างๆ กันเอาไว้ ไม่ได้วิ่งแค่ในกรุงเทพฯนะ บางคันยิงตรงไปถึงพัทยา จันทบุรี ตราด หัวหิน และหนองคายกันเลยทีเดียว

เอาเป็นว่าบทความนี้เรามาโฟกัสเฉพาะรถเมล์ขสมก.ที่วิ่งในกรุงเทพฯ และผ่านเข้ามาในสนามบินสุวรรณภูมิ จะมีเพียง 3 สายเท่านั้น ได้แก่ 554 สุวรรณภูมิ-รังสิต (ผ่านรามอินทรา วิภาวดี ดอนเมือง), 555 สุวรรณภูมิ-รังสิต (ลงทางด่วนพระราม 9) และ 558 สุวรรณภูมิ-เช็นทรัลพระราม 2 ทั้งหมดเป็นรถเมล์ปรับอากาศ และราคาค่าโดยสารตลอดสาย 34 บาท (จ่ายเงินกับกระเป๋ารถเมล์บนรถได้เลย ถูกเวอร์)

ที่ศูนย์ขนส่งสาธารณะ สนามบินสุวรรณภูมิ

สำหรับคนที่จะไปต่อสนามบินดอนเมือง สามารถขึ้นสาย 554 ได้ แต่สำหรับบ้านเราซึ่งอยู่สุขสวัสดิ์ วันนั้นก็เลยได้มีโอกาสลองนั่งสาย 558 และจากผลการรีวิวก็พบว่าสภาพภายในรถเมล์ค่อนข้างเก่ามาก ใช้เวลาไปถึงกิโล 9 สุขสวัสดิ์ ประมาณ 1 ชั่วโมง แบบรถไม่ค่อยติดเท่าไร ซึ่งถ้าเทียบจากราคา 34 บาท นับว่าถูกกว่าแท็กซี่ประมาณ 10 เท่า มันก็นับว่าโอเคเลยทีเดียว สำหรับวันที่ไม่รีบและสัมภาระไม่เยอะมาก (เราถือกระเป๋า cabin size ใบเดียว สามารถวางแทรกไว้ตรงระหว่างที่นั่งได้)

บรรยากาศในรถเมล์สาย 558

วิธีการขึ้นรถเมล์แอร์พอร์ตเหล่านี้ สำหรับผู้โดยสารที่เดินทางออกจากสนามบินสุวรรณภูมิ จากอาคารผู้โดยสารให้เดินไปที่จุดขึ้นรถ shuttle bus ซึ่งมีอยู่หลายจุด ได้แก่ สาย A: ชั้น 1 ประตู 3 และประตู 8, สาย Express ชั้น 2 ประตู 5 และชั้น 4 ประตู 5 ทั้งหมดนี้จะไปจอดที่ศูนย์ขนส่งสาธารณะ แต่ถ้ารีบ แนะนำให้ขึ้นสาย Express จะเร็วที่สุด เพราะวิ่งรับส่งแค่อาคารผู้โดยสารกับศูนย์ขนส่งสาธารณะเท่านั้น ส่วนผู้โดยสารที่เดินทางจากในเมืองเข้าสู่สนามบินสุวรรณภูมิ ก็ให้ลงที่ศูนย์ขนส่งสาธารณะแล้วก็ต่อ shuttle bus สาย A หรือ Express ก็ได้ เข้าไปยังอาคารผู้โดยสารเลย

นอกจากนี้รถเมล์ ขสมก. ที่หลายคนทำหน้าเซ็งว่าทำไมมีวิ่งแค่ 3 สาย ก็ต้องบอกว่าเขายังมีรถตู้ให้บริการในเส้นทางอื่นๆ อีกถึง 8 สาย ซึ่งจะเข้าไปรับส่งผู้โดยสารที่อาคารผู้โดยสารขาเข้า ชั้น 1 ประตู 8 เลย ไม่ต้องเสียเวลานั่งชัตเทิลบัสออกมาที่ศูนย์ขนส่งฯ ได้แก่

-รถตู้สาย 549 สุวรรณภูมิ-มีนบุรี (04.45-23.30) โดยปกติรถออกทุกๆ 10 นาที และในช่วงเวลาเร่งด่วน 04.45-06.00 รถจะออกทุก 5 นาที

-รถตู้สาย 550 สุวรรณภูมิ-แฮปปี้แลนด์ (06.00-22.30) รถออกทุก 20 นาที

-รถตู้สาย 551 สุวรรณภูมิ-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (05.30-20.00) รถออกทุก 30 นาที

-รถตู้สาย 552 สุวรรณภูมิ-อ่อนนุช (6.00-22.00) รถออกทุก 15 นาที และในช่วงเวลาเร่งด่วน 6.00-9.00 รถจะออกทุก 10 นาที

-รถตู้สาย 552A สุวรรณภูมิ- สมุทรปราการ (6.00-22.00) รถออกทุก 20-25 นาที

-รถตู้สาย 554 สุวรรณภูมิ- รังสิต (ผ่านรามอินทรา-สะพานใหม่) 08.00-20.20 เวลาออกรถ 8.00, 9.00, 17.00, 17.30, 19.30, 20.20

-รถตู้สาย 555 สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง (ดินแดง-วิภาวดี-ดอนเมือง) 06.00-21.30 วิ่งเส้นทางเดียวกับรถเมล์สาย 555 (รถออกทุก 20 นาที ยกเว้น 10.00-14.00 ออกทุก 40 นาที)

-รถตู้สาย 559 สุวรรณภูมิ-รังสิต (วงแหวน-ลำลูกกา-ดรีมเวิลด์) 06.00-23.00 (06.00-15.00 ออกทุก 30-40 นาที / 15.00-23.00 ออกเมื่อคนเต็ม)

Don Muang Airport

สำหรับสนามบินดอนเมือง อันนี้การเดินทางด้วยรถเมล์จะค่อนข้างสะดวกสบายกว่าสนามบินสุวรรณภูมิ เพราะไม่ต้องต่อชัตเทิลบัส รถเมล์สาย A1 จะเข้าไปรับเราที่ชั้น 1 อาคารผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ อาคาร 1 (T1) ทางออกที่ 6 และอาคารผู้โดยสารขาเข้าภายในประเทศ (T2) ทางออกที่ 12 เรียกว่าไม่ว่าจะมาจากในประเทศหรือต่างประเทศ ก็สามารถรับกระเป๋าสัมภาระแล้วก็เดินตามป้ายสัญลักษณ์รถโดยสารประจำทาง ลงมารอรถเมล์ที่ชั้นล่างได้เลย

รถเมล์เข้าเมืองของสนามบินดอนเมืองจะแบ่งเป็นสาย A1 สนามบินดอนเมือง-จตุจักร (รถออกทุก 5 นาที) และสาย A2 สนามบินดอนเมือง-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (รถออกทุก 30 นาที) ค่าโดยสาร 30 บาทตลอดสาย ให้บริการตั้งแต่ 07.00-24.00

สำหรับผู้โดยสารที่จะนั่งเข้ามายังสนามบินดอนเมือง โดยมีจุดเริ่มต้นจากสถานีรถไฟฟ้าหมอชิต เขาจะมีป้ายบอกไปยังป้ายรถเมล์ A1 อย่างชัดเจน โดยให้ใช้ทางออกที่ 3 ส่วนคนที่มาโดยรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ลงสถานีจตุจักรและให้ใช้ทางออกที่ 1 ทางไปตลาดนัดจตุจักร เดินออกมาเลี้ยวซ้ายก็จะเจอกับป้ายรถเมล์เลย

จากที่เคยใช้บริการสาย A1 ระยะทางจากต้นทางไปปลายทางใช้เวลาราวๆ 20-30 นาที ขึ้นอยู่กับสภาพการจราจร แต่ด้วยความที่ขึ้นโทลล์เวย์ก็เลยค่อนข้างจะสะดวกรวดเร็ว ถ้าสัมภาระไม่เยอะ รถเมล์ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่จะช่วยเราประหยัดค่าใช้จ่าย แล้วเก็บตังไว้ไปเที่ยว ไปช้อป ไปกิน ได้อีกเพียบค่ะ

——————————————

4.อินโดนีเซีย

2 ดาว

Soekarno-Hatta Airport

ปิดท้ายด้วยสนามบินที่จาการ์ตา อินโดนีเซียกันค่ะ ที่เห็นให้คะแนนน้อยที่สุดอย่าเพิ่งเบือนหน้าหนี เราแค่อยากจะบอกว่าที่ให้คะแนนน้อยก็เพราะว่าที่จาการ์ตานั้นรถติดมาก จนไม่ว่าการเดินทางด้วยวิธีไหนเข้าสนามบินก็รู้สึกถูกดูดพลังทั้งสิ้น ที่นี่คนส่วนใหญ่ใช้บริการแท็กซี่ ซึ่งก็เสี่ยงต่อการโดนโก่งราคา แถมยังเจอรถติดโดยที่จ่ายแพงไปแล้วก็ไม่ช่วยอะไร

ข้อจำกัดอีกอย่างของรถเมล์ที่นี่คือรถจะไปส่งแค่ไม่กี่จุดในเมือง นั่นหมายความว่ายังไงเราก็ต้องไปต่อแท็กซี่ไปโรงแรมอยู่ดี และอีกข้อก็คือคนแน่นค่ะ ถ้าขึ้นช้าอาจต้องยืน แต่มันก็ได้ฟีล local ดีนะ (รึเปล่า)

เอาเป็นว่าเราขึ้นมาแล้ว มันไม่แย่มาก และถ้ามีโอกาสจะไปจาการ์ตาอีก เราก็จะใช้บริการอีก เพราะถือคติว่าไหนๆ ก็ต้องเจอรถติดแล้ว เราเลือกแบบเสียตังน้อยๆ ดีกว่า

รถเมล์ที่ว่านี้ชื่อ Damri Bus เมื่อเราออกจากสนามบินแล้วให้เดินไปชั้นล่าง ออกไปหน้าประตูก็เลี้ยวซ้าย เดินตรงไปถึงซ้ายสุดๆ จะเจอเคาน์เตอร์ขายตั๋ว ให้เราแจ้งสถานีที่จะลง และพนักงานก็จะแจ้งราคากลับมา เรานั่งไปสถานีรถไฟ Gambir ใจกลางเมือง ราคา 40,000 Rp. ถูกกว่าแท็กซี่หลายเท่า เพราะถ้าเรียกแท็กซี่ก็จะเป็นหลักแสน Rp. เลยทีเดียว เมื่อซื้อตั๋วแล้วก็เดินไปนั่งรถตรงที่นั่งที่เขาจัดไว้ ใครเอากระเป๋าเดินทางใบใหญ่มา สามารถวางไว้ใต้ท้องรถ ไม่ต้องห่วงเรื่องความปลอดภัยเพราะมีพนักงานคอยดูแลความเรียบร้อยบนรถ และไม่ต้องกลัวหลงด้วยเพราะพนักงานจะคอยตะโกนบอกเมื่อถึงแต่ละป้าย

รถเป็นรถเมล์ปรับอากาศ มีแอร์ไม่ต้องห่วง สภาพภายในคล้ายๆ รถเมล์เก่าๆ ของไทยที่จะมีกลิ่นเหม็นอับนิดนึง แต่ที่เจ๋งคือมี free wifi ค่ะ

2 COMMENTS

Comments are closed.

Exit mobile version