ก่อนเริ่มอ่านบทความนี้ อยากให้ทุกคนลองหลับตาแล้วนึกถึงภาพทะเลสาบกว้างๆ ดอกไม้กำลังบานสะพรั่ง มีบ้านไม้แบบอัลไพน์ตกแต่งน่ารักเรียงรายอยู่สองข้างถนน

มันคือความรื่นรมย์ของบรรยากาศในชนบทของออสเตรียตอนเหนือที่ชื่อว่า อัทเทอร์ซี-อัทเทอร์เกา (Attersee-Attergau) เมืองตากอากาศที่มีทะเลสาบที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศออสเตรีย ชื่อว่า Lake Atter ซึ่งศิลปินหลายคนในออสเตรียชอบมาใช้เวลาพักผ่อนในช่วงฤดูร้อน เพราะอากาศดี แม้ในฤดูร้อนก็ยังมีลมเย็นพัดมาจากเทือกเขาแอลป์ พวกเขาจึงมักมาซึมซับแรงบันดาลใจกับความสวยงามของธรรมชาติ และสร้างสรรค์ผลงานหลายต่อหลายชิ้นฝากไว้ให้กับโลก

รูปปั้นของ Gustav Klimt จิตรกรชาวออสเตรียที่ริมทะเลสาบ Attersee

สองศิลปินที่มาเยือนที่นี่บ่อยมากๆ ที่เราจะเล่าให้ฟังก็คือ กุสตาฟ คลิมท์ (Gustav Klimt 1862-1918) จิตรกรหัวก้าวหน้าชาวเวียนนา ออสเตรีย เจ้าของผลงานภาพ The Kiss สีทองอันโด่งดัง และกุสตาฟ มาห์เลอร์ (Gustav Mahler 1860-1911) คีตกวีและวาทยกรชาวโบฮีเมียน-ออสเตรียที่โด่งดังจากการแต่งบทเพลงซิมโฟนีอันไพเราะและยิ่งใหญ่ไว้ถึง 10 บท โดยมีซิมโฟนีหมายเลข 3 เป็นซิมโฟนีที่ยาวที่สุดในบรรดาซิมโฟนีทั้งหลาย (ความยาว 95 นาที)

Gustav Mahler คีตกวีชาวโบฮีเมียน-ออสเตรีย
Gustav Mahler

ว่ากันว่าความทุกข์และความโศกเศร้าเป็นเหมือนอาหารชั้นดีที่ก่อเกิดอารมณ์ลึกซึ้งทางศิลปะ ซึ่งก็อาจจะจริงถ้าดูจากชีวประวัติของศิลปินส่วนใหญ่ คลิมท์กับมาห์เลอร์เองก็เป็นเช่นนั้น มาห์เลอร์มีชีวิตวัยเด็กที่ไม่มีความสุขเลย เพราะครอบครัวแตกแยก และพอมีครอบครัวเป็นของตัวเองก็ต้องเจอกับปัญหา แถมลูกสาวยังมาเสียชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อย แต่เขาก็แต่งเพลงได้ทรงพลัง และแสดงออกเชิงอารมณ์ได้ชัดเจน จนกลายเป็นนักแต่งเพลงชื่อดังแห่งยุคศตวรรษที่ 20 เรามักจะได้ยินเสียงของธรรมชาติจากซิมโฟนีของเขา เช่นเสียงนก เสียงกระดิ่งวัว สะท้อนบรรยากาศในชนบทของออสเตรีย ขณะที่สีสันและทำนองของเพลงมักจะมีความหลากหลาย และเกิดความคอนทราสต์อยู่บ่อยครั้ง เหมือนเป็นการผสมผสานกันของความมืดมนและความสว่าง ความสิ้นหวังและความสุข ความจริงและความบิดเบือน

The Kiss (1907-1908) / Gustav Klimt
Portrait of Adele Bloch-Bauer (1903-1907) / Gustav Klimt

ส่วนคลิมท์ ก็ได้ชื่อว่าเป็นศิลปินที่วาดรูปผู้หญิงได้สวยงามที่สุดคนหนึ่ง มีหลายภาพที่สื่อสารเรื่องความรักได้ดูดดื่มและสวยงาม ไม่ว่าจะเป็น The Kiss ที่เป็นภาพความรักของหนุ่มสาว หรือภาพเหมือนของอาเดเลอ บล็อค-เบาเออร์ ภรรยาของเจ้าของโรงงานน้ำตาลชาวยิว ที่ได้ชื่อว่าเป็นภาพโมนาลิซาแห่งออสเตรีย แต่ชีวิตจริงของเขากลับพบแต่อุปสรรคทางความรักมาตลอด เขามีความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยสมประกอบ หรืออยู่ในสถานะแอบรัก หลบๆ ซ่อนๆ ไม่เคยปรากฏว่าเขาเคยแต่งงานหรือมีครอบครัว อีกทั้งช่วงที่มีชีวิตอยู่ก็ไม่ได้รับการยอมรับในบทบาทอาชีพศิลปินเท่าที่ควร

หนึ่งในภาพแลนด์สเคปของคลิมท์ที่จัดแสดงอยู่ที่ Gustav Klimt Centre

ความน่าสนใจคือคลิมท์กลับถ่ายทอดอารมณ์ของความรักได้อย่างสวยงาม และในภาพวาดของคลิมท์ ก็มักจะมีปรัชญาที่ลึกซึ้งสอดแทรกไว้ด้วยเสมอ นอกจากนี้เขายังวาดภาพแลนด์สเคปด้วย และส่วนใหญ่เลยก็เป็นแลนด์สเคปจาก Attersee นี่แหละ

เหตุผลสำคัญของการที่เรามาเที่ยวเมืองทะเลสาบแห่งนี้ จึงไม่พ้นการมาตามรอยศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสอง เพราะเราอยากรู้ว่าธรรมชาติของที่นี่ให้แรงบันดาลใจอย่างไรบ้าง

ช่วงเช้า 8.34 รถไฟออกจากสถานี Salzburg Hbf มุ่งหน้าไปยังเมืองลินซ์ (Linz) แต่เราจะลงที่ อัทเทอร์ซี-อัทเทอร์เกา (Attersee-Attergau) ตอน 9.48 ซึ่งอยู่ก่อนถึงเมืองลินซ์ โดยมีการเปลี่ยนขบวนรถไฟ 1 ครั้ง

พอมาถึงสถานีรถไฟที่อัทเทอร์ซี บรรยากาศก็เปลี่ยนเข้าสู่ความเป็นชนบทที่แท้ทรู สถานีเล็กมาก และในโบกี้รถไฟที่เรานั่งมา ก็มีแค่เราคนเดียว คุณโจฮันนา เคียบเลอร์ (Johanna Kiebler) ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่การท่องเที่ยวประจำเมือง (Attersee-Attergau Tourism) เดินโบกไม้โบกมือมารับเราแต่ไกล เธอรู้ว่าเป็นเราแน่ๆ ที่นัดกันไว้ ทั้งที่ไม่เคยเจอหน้ากันมาก่อน แต่ก็ด้วยความที่เราเป็นคนเอเชีย ซึ่งก็ไม่ค่อยมีคนเอเชียมาเที่ยวที่นี่มากอยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะไปฮัลล์สตัทท์กันหมด ที่นี่เลยเป็นเหมือนเมืองนอกกระแส เหมาะสำหรับคนอยากมาใกล้ชิดกับธรรมชาติและเสพความสงบเงียบอย่างแท้จริง

วิวข้างทางจากหน้าต่างรถของคุณ Johanna
บ้านแบบอัลไพน์

การเที่ยวในเมืองนี้จำเป็นต้องเช่ารถขับถึงจะสะดวก เพราะเป็นเมืองเล็กมาก แม้จะมีรถเมล์แต่ก็นานๆ มาที คุณโจฮันนาจึงอาสาขับรถพาเราเที่ยวเอง รอบทะเลสาบความยาว 21 กิโลเมตร เธอแต่งตัวด้วยชุดพื้นเมืองประจำแคว้น เป็นเหมือนชุดเอี๊ยมกระโปรงยาว ใส่ทับเสื้อสีขาว ซึ่งเธอเล่าว่าคนออสเตรียมักจะใส่ชุดแบบนี้กันในหน้าร้อนเป็นปกติอยู่แล้ว กระโปรงมีหลากสีสัน ดูสดใสเหมือนสีดอกไม้

คุณโจฮันนาเกิดและเติบโตที่นี่ เธอเป็นชาวอัทเทอร์ซีแท้ๆ และก็ทำงานที่นี่มาตลอด เธอดูมีความภูมิใจในการบอกเล่าสิ่งต่างๆ เกี่ยวกับเมือง โดยเฉพาะเรื่องการให้ความสำคัญของสิ่งแวดล้อม (ecosystem) เราแทบไม่เห็นขยะสักชิ้นบนถนนและในทะเลสาบ น้ำใสเย็นและสะอาดบริสุทธิ์มากจนสามารถดื่มได้ มีปลาหลากหลายชนิด และยังมีการทำฟาร์มโคนมแบบยั่งยืน ซึ่งเราจะเห็นพวกวัวตัวอ้วนๆ นอนหรือเดินกินหญ้าอยู่อย่างสบายใจ เป็นวัวที่ชีวิตดีจนเราแอบอิจฉา และน้ำนมที่ได้ออกมาก็เป็นน้ำนมคุณภาพสูง นำไปทำผลิตภัณฑ์นมต่างๆ ได้รสชาติดีมาก

ที่บ้านเพื่อนของคุณโจฮันนา สนามหญ้าด้านล่างมีเปียโนเก่า โดยมีฉากหลังเป็นทะลสาบ

ตามแพลนแล้ว เรามีกิจกรรมล่องเรือ แต่ด้วยความที่วันนั้นฝนตกๆ หยุดๆ เป็นระยะ คุณโจฮันนาเลยขับรถพาเราเที่ยวรอบๆ ทะเลสาบแทน ระหว่างทางผ่านบ้านเพื่อนสนิทของเธอ เราเลยได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมบ้านเก่าอายุกว่าร้อยปีที่ภายในรีโนเวทตกแต่งใหม่ แต่ยังคงกลิ่นอายพื้นเมืองแบบดั้งเดิมเอาไว้ เป็นบ้านไม้สองชั้นที่อยู่ติดทะเลสาบ ระเบียงชั้นสองสามารถมองเห็นวิว Lake Attersee ได้แบบพาโนรามา ขณะที่สนามหญ้าด้านล่าง มีโต๊ะและม้านั่งสำหรับพักผ่อน ตกแต่งด้วยเปียโนเก่าที่หักพังใช้การไม่ได้แล้ว แต่ดูเก๋เหมือนงานศิลปะเลยทีเดียว เราแอบคิดว่าถ้าเราได้อยู่บ้านแบบนี้ คงไม่อยากออกไปไหนอีกแล้ว…

ระเบียงชั้น 2 ของบ้านเพื่อนคุณโจฮันนาที่เปิดออกไปเป็นวิวทะเลสาบ

ต่อจากนั้นเราได้ไปดูคอทเทจหรือกระท่อมหลังเล็กๆ ของมาห์เลอร์ เรียกว่า Composing Hut สร้างอยู่บนสนามหญ้าริมทะเลสาบเลย เป็นหนึ่งใน attraction สำคัญที่เหล่าแฟนๆ ดนตรีของมาห์เลอร์หรือแฟนๆ ดนตรีคลาสสิกจากทั่วโลกจะต้องมาเยือนให้ได้สักครั้ง ด้านในจัดแสดงภาพและประวัติของมาห์เลอร์ อุปกรณ์การทำงานของเขา รวมทั้งเปียโนตัวใหญ่ที่กลางห้อง คุณโจฮันนาเล่าว่ามาห์เลอร์มาอยู่ที่นี่ในช่วงหน้าร้อน ตั้งแต่ปี 1893-1896 เขาชอบทำงานในที่สงบเงียบและใกล้ชิดธรรมชาติ มีบทเพลงมากมายที่เขาแต่งตอนอยู่ที่นี่ รวมทั้งซิมโฟนีสองบทใหญ่ด้วย (เบอร์ 2 และเบอร์ 3) ถ้าใครได้ลองฟังก็จะสัมผัสได้ว่าเหมือนเขาจำลองเอาบรรยากาศที่สวยงามของธรรมชาติรอบๆ แห่งนี้ลงไปในบทเพลง และในเวลาว่าง มาห์เลอร์ก็จะไปพักผ่อนด้วยการว่ายน้ำในทะเลสาบ ขี่จักรยาน และเดินเขา

กระท่อมหลังเล็กๆ ของ Gustav Mahler ที่เขามาใช้เวลาแต่งเพลงช่วงหน้าร้อนที่ Attersee
ภายใน Composing Hut ของ Gustav Mahler

ช่วงเดือนกรกฏาคมของทุกปี ซึ่งเป็นเดือนเกิดของมาห์เลอร์ เขามีการจัด Gustav Mahler Festival กันที่ Steinbach am Attersee แห่งนี้ด้วย ซึ่งสำหรับปี 2022 นี้ ก็ถือเป็นครั้งที่ 6 แล้ว โดยจะมีวงดนตรีมาบรรเลง มีการจัดประกวดแต่งเพลง การฉายภาพยนตร์ และมีดินเนอร์ริมทะเลสาบที่เสิร์ฟเมนูโปรดของมาห์เลอร์อย่าง Marillenknödel หรือ apricot dumpling อาหารออสเตรียหน้าตาคล้ายเกี๊ยว เป็นแป้งห่อเนื้อสัตว์ไว้ด้านใน ฯลฯ

โปสเตอร์โฆษณา Gustav Mahler Festival 2022

หลังจากเราทานมื้อกลางวันกันที่ Restaurant Litzberger Keller ก็ได้เวลาของ Walking tour ตามรอยคลิมท์ โดยเริ่มจาก Gustav Klimt Centre ซึ่งมีรูปปั้นกุสตาฟ คลิมท์ อยู่ตรงลานด้านหน้า แล้วก็มีสวนดอกไม้เล็กๆ ซึ่งเป็นดอกไม้ที่ปรากฏอยู่ในภาพวาดของคลิมท์ “การวาดรูปพอร์เทรตกับการวาดรูปแลนด์สเคปของคลิมท์นั้นมีสไตล์ที่ไม่เหมือนกันเลย ลายเส้นของภาพคนจะค่อนข้างอ่อนโยนและนุ่มนวล ส่วนการวาดภาพวิวทิวทัศน์ คลิมท์ใช้ฝีแปรงที่เฉียบคม แข็งแกร่ง และชัดเจน ขณะเดียวกันก็มีความอิสระ” คุณโจฮันนาเล่าว่าคลิมท์เลือกมาพักผ่อนที่ Attersee แทบจะทุกช่วงซัมเมอร์ตั้งแต่ช่วงปี 1900-1907 ซึ่งถือเป็นช่วงจุดเปลี่ยนของชีวิต หลังจากที่เขาแสดงงานต่อสาธารณชนและต้องเผชิญกับคำวิจารณ์มากมาย เขาเลือกที่จะมาเพนต์แลนด์สเคปที่นี่ในสไตล์ที่แตกต่าง เพื่อความพึงพอใจของเขาเอง

สวนดอกไม้ที่อยู่ในภาพวาดของคลิมท์ ใกล้ๆ Gustav Klimt Center

เรามีไกด์อาสาสมัครซึ่งเป็นอาจารย์สอนประวัติศาสตร์ในเมืองนี้ เป็นผู้ที่มาพาเราเดินชม Klimt Art Trail สถานที่กว่า 10 จุด รอบทะเลสาบ แต่ละสถานที่จะมีป้ายอธิบายเรื่องราวว่าคลิมท์เปลี่ยนสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้มาอยู่บนผืนผ้าใบอย่างไร คนที่ชอบเรื่องศิลปะและประวัติศาสตร์จะได้ความรู้แบบอัดแน่นมากๆ

การวาดภาพน้ำของคลิมท์โฟกัสที่รายละเอียดของสีและเท็กซ์เจอร์ จนมันเกือบจะเป็นภาพแอ็บสแตร็กต์ และบางครั้งเราก็เห็นไปถึงภาพของก้อนเมฆที่สะท้อนอยู่ในผืนน้ำ ไกด์ชี้ให้เราดูน้ำสีเทอร์ควอยซ์ที่ปนเฉดม่วงเบาๆ ในทะเลสาบแล้วบอกว่า “คลิมท์หลงใหลเรื่องน้ำมากๆ เขาสามารถใช้เวลาอยู่ที่ทะเลสาบ และนั่งมองมันได้เป็นชั่วโมงๆ คอยดูสีของน้ำที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามแสงที่มาตกกระทบในแต่ละช่วงของวัน เขายังชอบว่ายน้ำ กินอาหารกลางวัน แล้วก็งีบหลับริมทะเลสาบแถวๆ นี้ ก่อนจะตื่นมาวาดรูป” เธอชี้ไปตรงจุดที่มองเห็นวิว Scholss Kammer วังที่สร้างมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 ก่อนจะได้รับการออกแบบใหม่ในปี 1710 และคงอยู่มาถึงปัจจุบัน เป็นจุดหนึ่งที่คลิมท์โปรดปราน

ทางเดินเข้าไปยังวัง Kammer แรงบันดาลใจของภาพวาด Avenue in front of Schloss Kammer

นอกจากมุมมองจากทะเลสาบแล้ว ยังมีภาพ Avenue in front of Schloss Kammer ปี 1912 ที่คลิมท์ได้วาดซุ้มต้นไม้จากด้านหน้าวัง มองไปจะเห็นสถาปัตยกรรมบาโรกของตัวอาคารอยู่ไกลๆ เป็นภาพที่ได้รับอิทธิพลจากสไตล์ของแวน โก๊ะห์ (Vincent van Gogh)

เรายังได้เห็นภาพถ่ายจากปี 1905 ซึ่งเป็นภาพที่คลิมท์กับเอมิลี่ (Emilie Flöge) ผู้หญิงคนหนึ่งที่เขามีความสัมพันธ์ด้วย ยืนอยู่ด้วยกันในสวน Litzlberg สิ่งที่โดดเด่นออกมาก็คือชุดกระโปรงตัวใหญ่โคร่งที่เอมิลี่ใส่ มันได้ชื่อว่าเป็นเดรสปฏิวัติธรรมเนียมการสวมใส่เสื้อผ้าผู้หญิงในยุคนั้น ด้วยความที่เอมิลี่เป็นดีไซเนอร์ เธอออกแบบเดรสในลักษณะที่พลิ้วไหว สวมใส่สบาย ไม่เน้นรูปร่างของผู้หญิง ซึ่งในภาพถ่ายหลายๆ ภาพ เราเห็นว่าคลิมท์เองก็ใส่ชุดเดรสโคร่งๆ แบบนี้ กำลังพายเรืออยู่บ้าง ออกเดินป่าบ้าง และลวดลายบนผ้าก็กลายมาเป็นแรงบันดาลใจในการวาดภาพให้คลิมท์ด้วยเช่นกัน

Emilie Flöge และ Gustav Klimt ที่มักจะมาใช้เวลาในช่วงหน้าร้อนที่ Attersee ด้วยกัน

สิ่งที่ทำให้คลิมท์เป็นจิตรกรที่โดดเด่นแห่งยุค คือมุมมองทางศิลปะที่น่าสนใจ และภาพแลนด์สเคปที่คลิมท์ถ่ายทอดมาเพื่อความพึงพอใจของตัวเองเป็นส่วนใหญ่เหล่านี้ มันยิ่งสะท้อนความเป็นตัวตนของเขา ความอิสระเสรีที่อยู่ในใจ และความอิ่มเอมหลงใหลในธรรมชาติ เป็นการผสมผสานทั้งแอ็บสแตร็กต์ อิมเพรสชันนิสต์ และเอ็กซ์เพรสชันนิสต์ ร่วมกับการใช้องค์ประกอบเรขาคณิต ให้เราได้สัมผัสความกลมกลืนกันของธรรมชาติ

มันคือความมหัศจรรย์ในโมเมนต์หนึ่งของชีวิตเหมือนกันนะ ที่หลังจากได้ฟังซิมโฟนีของมาห์เลอร์ ได้ดูภาพวาดของคลิมท์ มาหลายต่อหลายครั้งในชีวิต แล้วเราก็ได้มีโอกาสมาเยือน Attersee เหมือนเราได้เดินเข้ามาในโลกของศิลปิน ได้สัมผัสถึงห้วงลึกแห่งความคิดของพวกเขา และทำให้เรารู้สึกด้วยว่าธรรมชาติที่สวยงามมันทำให้โลกน่าอยู่แค่ไหน

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการท่องเที่ยว Attersee-Attergau ได้ที่ https://attersee-attergau.at และการท่องเที่ยวออสเตรียได้ที่ https://www.austria.info/en

Leave a Reply