ผลงานชิ้นล่าสุดของยุรี ที่ชื่อ ‘Bleu Blanc Rouge’

ที่มาของผลงานศิลปะชิ้นล่าสุด ที่ชื่อว่า ‘Bleu Blanc Rouge’ ของ ยุรี เกนสาคู เกิดขึ้นจากการเดินทางไปฝรั่งเศสเมื่อเดือนมกราคม 2563 ที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกที่เธอจากบ้านไปใช้ชีวิตอยู่ต่างถิ่นนานสองเดือนเต็ม โดยได้รับเชิญไปเป็นศิลปินพำนักคนที่ 409 ในโครงการ Art in Residency program at Centre Intermondes ที่เมืองลา โรแชล (La Rochelle) เมืองทางฝั่งตะวันตก ค่อนไปทางใต้ ไม่ไกลจากบอร์โดซ์ (Bordeaux)

ห้องพักของยุรี ในช่วงไปเป็นศิลปินพำนักที่เมืองลา โรแชล

ยุรี เกนสาคู เป็นศิลปินไทยที่มีผลงานในระดับนานาชาติ สร้างสรรค์งานเพนต์ติ้งร่วมสมัยที่มีคาแร็กเตอร์น่ารักๆ และมักอาศัยรูปแบบการ์ตูน สีสันสดใส เป็นจุดเด่น แต่เรื่องราวที่ซ่อนอยู่ในภาพ ความหมายบางอย่างที่แฝงไว้ก็อาจไม่ได้สดใสไปทั้งหมด บอกเล่าเรื่องราวหลากหลายที่เข้ามากระทบจิตใจของตัวเอง ตั้งแต่เรื่องอาหารการกิน สุขภาพ สิ่งแวดล้อม วิจารณ์สังคม ไปจนถึงเรื่องการเมือง อย่างงานชุด ‘นารีขี่ม้าขาว’ ที่เธอจัดแสดงที่ Tang Contemporary Art Bangkok ไปเมื่อปีที่แล้ว ก็ได้รับความสนใจมากมาย แต่ยุรีก็ยังคงออกตัวว่าเธอไม่ใช่นักเคลื่อนไหว เป็นเพียงศิลปินที่ทำงานศิลปะสะท้อนสังคม บอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นเท่านั้น

ความน่าสนใจของการเดินทางไปเมือง ลา โรแชล ครั้งนี้ ก็คือ เธอไปในช่วงที่มีอากาศหนาวมากๆ และยังไปเจอเหตุการณ์ประท้วงหยุดเดินรถไฟที่ฝรั่งเศสตั้งแต่วันแรกที่เดินทางถึง ทำให้การเดินทางจากปารีสไปยังลา โรแชล ต้องผิดแผนไปหลายอย่าง แถมในช่วงท้ายของทริปยังเจอเหตุการณ์โควิด-19 ซึ่งทำให้เธอต้องเลื่อนไฟลท์กลับเมืองไทยเร็วขึ้น ทั้งหมดนี้แลกมากับการสร้างสรรค์ผลงานที่ชื่อว่า ‘Bleu Blanc Rouge’ ซึ่งแปลเป็นไทยว่า ‘น้ำเงิน ขาว แดง’ จัดแสดงที่เมืองลา โรแชลไปแล้วในช่วงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ – 2 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา

และด้านล่างนี้คือเรื่องเล่าจากยุรี หลังจากที่เธอกลับมาเมืองไทยได้ไม่กี่เดือน เกี่ยวกับประสบการณ์สนุกๆ ในการไปเป็นศิลปินพำนักที่ประเทศฝรั่งเศส

ยุรี เกนสาคู และเมธี น้อยจินดา ในช่วงที่ไปเยือนฝรั่งเศส

จากกรุงเทพฯ ไปลา โรแชล การผจญภัยตั้งแต่เรื่องประท้วงหยุดรถไฟฝรั่งเศส ไปจนถึงความลำบากในการหาสีวาดภาพ

“ที่เมืองลา โรแชล เขามี Residency Program อยู่แล้วค่ะ แต่ละปีก็จะมีศิลปินจากทั่วโลกที่ได้รับคัดเลือกไป ศาสตราจารย์ ดร. อภินันท์ โปษยานนท์ (ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมและผู้อำนวยการศิลป์ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่) เป็นผู้ที่แนะนำเราให้ทางนั้นพิจารณา เราส่งภาพผลงานให้เขาคัดเลือก และทาง ซองตร์ แองแตร์มงด์ส (Centre Intermondes) ก็เลือกเราไปเข้าร่วมโปรแกรม

“ปกติเป็นคนที่ไม่ค่อยได้เดินทาง เพราะว่ามีปัญหาเรื่องแพ้อาหาร ถ้าไปในที่ไม่คุ้นเคย เราไม่รู้จักอาหารชนิดนี้ว่ามีส่วนผสมจากอะไรบ้าง ก็อาจจะวุ่นวายหรืออันตรายได้ ก่อนหน้านี้เคยไป Residency Program ครั้งหนึ่งที่ Yokohama Museum of Art ที่ญี่ปุ่น ประมาณ 1 เดือนครึ่ง แต่มาครั้งนี้ก็สองเดือนเลย

“เราไม่เคยอยู่ในที่ที่หนาวขนาดนี้ด้วย อุณหภูมิคือเลขตัวเดียว ไปวันแรกเย็นหัวมาก หาซื้อหมวกกันพัลวัน แล้ววันแรกที่ไปถึง ก็เจอ strike เลย วันที่ต้องเดินทางไป ลา โรแชล ไปไม่ได้รถไฟแคนเซิล จึงต้องจองโรงแรมที่ปารีสเพิ่ม 1 คืน เพื่อรอเดินทางในอีกวันถัดไป และวันที่เดินทาง ช่วงนั้นจากปารีสไม่มีรถไฟ direct ไป ลา โรแชล ต้องไปต่อที่เมืองตูร์ (Tour) เรานั่งรถจากปารีสไปแต่เช้าและต้องต่ออีกขบวนในตอนเย็น มีช่วงเวลาที่รอต่อขบวนนานมาก จนกลายเป็นว่าได้เที่ยวในเมืองตูร์ 1 วัน ก่อนจะมุ่งหน้าสู่ ลาโรแชล

“เมืองลา โรแชล จริงๆ แล้วเป็นเมืองท่องเที่ยวตากอากาศ สมัยก่อนเป็นเมืองท่าเรือ ทำการค้าขาย ปัจจุบันก็ยังเห็นตึกประวัติศาสตร์อยู่ คนไปพักผ่อนกันเยอะ ฟีลเหมือนหัวหินบ้านเรา มีร้านค้า ร้านอาหารเยอะ หาอาหารเอเชียได้ง่ายมาก ไทย จีน ญี่ปุ่น มีหมดเลย แถวที่พักนี่รายล้อมไปด้วยร้านช็อกโกแลต เรากินหลากหลายมาก ชอบสเต็กเนื้อ แล้วก็มีเป็ดที่ราดซอสเหมือนซอสแอปเปิ้ล เมืองน่ารัก บรรยากาศดีมากค่ะ ไม่น่ากลัวเลย ความกลัวมันจะมาอยู่ที่ความไม่แน่นอน ในเชิงว่าคาดเดาอะไรไม่ได้มากกว่า อย่างเช่นหลายๆ ช็อตที่เราผิดแผน

“หนึ่งในความผิดแผน นอกจากเรื่องรถไฟแล้ว ก็มีในเรื่องของการทำงาน เช่น อุปกรณ์บางอย่างที่เราไม่สามารถหาซื้อได้เหมือนตอนอยู่เมืองไทย ในลา โรแชล เนี่ย การซื้อสีเป็นเรื่องที่ค่อนข้างหายาก ราคาก็ประมาณหนึ่ง แต่ที่สำคัญกว่าคือหาไม่ได้ตามที่ต้องใช้ จะสั่งออนไลน์ก็อาจจะไม่ทันการ เลยใช้เท่าที่หาได้ คนที่นั่นเขาแนะนำให้เราไปร้านประมาณคล้ายๆ B2S บ้านเรา แต่ก็แบบว่าเอ๊ะ! สีขาวไม่มีเลย เขาเอาไปทำอะไรกันหมด หรือบางทีซื้อสีมาแล้วใช้ไม่ได้ ก็เอาไปเปลี่ยน

เบื้องหลังการหาอุปกรณ์มาวาดภาพ

“ด้วยความที่เป็นงานชิ้นใหญ่ ก่อนจะได้เริ่มทำงานจริง ทำให้เราต้องใช้เวลาจัดการหลายอย่างเหมือนกัน ที่สำคัญคือเตรียมตัวเรื่องคอนเซ็ปต์งานเพื่อให้ลิงค์กับเรื่องราวระหว่างไทยกับฝรั่งเศสด้วย สถานที่ที่เป็นบ้าน กับที่ที่เราไปอยู่ โดยเอาความสนใจทางศิลปะและประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศสที่เคยเรียนมาตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา มาเป็นแรงบันดาลใจ

ยุรีและสตูดิโอทำงานของเธอที่เมืองลาโรแชล

ความเชื่อมโยงของไทย-ฝรั่งเศส ภายใต้คอนเซ็ปต์สี ‘น้ำเงิน ขาว แดง’ (Bleu Blanc Rouge)

“การให้ชื่องานชุดนี้ว่า ‘น้ำเงิน ขาว แดง’ เพราะมันเป็นสีธงชาติของทั้งฝรั่งเศสและไทย แต่เราก็ไม่แน่ใจว่าในเรื่องของสีธง ประเทศเราเอามาจากเขารึเปล่า เพียงแต่ว่าในประวัติศาสตร์ เราก็จะเห็นว่ามีเรื่องอื่นๆ อีกมากมายที่เราได้ความรู้จากต่างประเทศ จากของฝรั่งเศสเองก็เยอะ ที่เราเอามาปรับใช้ในบ้านเรา แต่บางเรื่องความหมายมันก็ถูกเปลี่ยนไปเลยอย่างสิ้นเชิงจากต้นฉบับ อย่างความหมายของแต่ละสีในธง เราก็ไม่เหมือนเขา แม้กระทั่งการใช้ชีวิตของเราตอนนี้ เราบอกว่าเราเป็นประเทศประชาธิปไตย แต่จริงๆ เราก็อยู่ภายใต้การปกครองของทหาร

‘Bleu Blanc Rouge’ โดยรวมพูดถึงสิทธิเสรีภาพ ผ่านสัญลักษณ์ที่หลากหลาย หนึ่งในนั้นมีแรงบันดาลใจจากวรรณกรรมเลื่องชื่ออย่าง ‘สามทหารเสือ’ (Les Trois Mousquetaires) ด้วย ความพิเศษคือเมื่อปี 2560 หนังสือเล่มนี้ได้มีการนำมาแปลและตีพิมพ์เป็นภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์มติชน และเรามีโอกาสได้ออกแบบปกให้ ซึ่งถือว่าเป็นเล่มแรกที่ถูกแปลโดยตรงมาจากภาษาฝรั่งเศส จากก่อนหน้านี้เคยมีแต่เวอร์ชั่นที่แปลจากภาษาอังกฤษ และในเรื่อง ‘ดาร์ตาญัง กับสามทหารเสือ’ นั้นก็มีเหตุการณ์สงครามปิดล้อมเกิดขึ้นที่เมือง ลา โรแชล ในยุคที่มีความขัดแย้งระหว่างศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์และคาทอลิก เราเลยนำภาพที่เคยออกแบบให้กับหนังสือแปลของมติชนมาอยู่ในเพนต์ติ้งด้วย

เทพีแห่งชัยชนะที่มีหัวเป็นไก่ ได้แรงบันดาลใจจากงานของเดอลาครัวซ์

“แล้วก็ยังมี object ที่มาจากงานของ เออแฌน เดอลาครัวซ์ (Eugène Delacroix) ภาพ Liberty Leading the People ซึ่งเป็นอนุสรณ์ของเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศส (The French Revolution) ภาพจริงเขาจะมีเทพีแห่งชัยชนะนำหน้าผู้คน ในมือถือธงชาติฝรั่งเศส แต่เราวาดเทพีที่มีหัวเป็นไก่ และเปลี่ยนภาพพอร์เทรตของเดอลาครัวซ์ให้เป็นหน้าของเราเอง โดยในมือถือจานสีและพู่กัน แทนการถือปืน

“ต่อด้วยเรื่องของพระนางมารี อ็องตัวแนตต์ (Marie Antoinette) ในช่วงที่มีการปฏิวัติฝรั่งเศส ก็จะมีเรื่องที่ถูกเล่าขานทั้งจริง ทั้งไม่จริง อย่างเช่น ตอนที่เหล่าคนจนบอกว่า ‘ไม่มีขนมปังจะกินแล้ว’ ก็มีคนใส่ร้ายว่าพระนางพูดว่า ‘ก็ให้พวกเขากินเค้กสิ’ ซึ่งมันเป็นวาทกรรมเท็จ ถูกปล่อยข่าวมาเพื่อให้คนเกลียดชังและนำไปสู่การล้มเจ้า เราจึงวาดพระนางมารี อ็องตัวแน็ตต์ถือเค้กอยู่ในมือ และใส่สร้อย Diamond Hope ซึ่งก็เป็นสร้อยที่ถูกสร้างเรื่องเท็จขึ้นมาอีกเหมือนกันว่าพระนางอยากได้มากจนกลายเป็นคดีความใหญ่โต ทั้งที่จริงๆ พระนางไม่ได้อยากได้เลย

พระนางมารี อ็องตัวแนตต์ และขนมเค้กในมือ

“เราใส่สัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นฝรั่งเศสเข้าไปหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นไวน์ หมวกเบเรต์ หรือครัวซองต์ แล้วก็ยังมีตัวการ์ตูนฝรั่งเศสที่เราชอบตอนสมัยเด็กอย่าง บาร์บ้าปาป้า (Barbapapa) กับการ์ตูนเรื่อง ‘กุหลาบแวร์ซายส์’ (The Rose of Versailles) ที่อิงการเมือง แต่มานำเสนอเป็นการ์ตูนตาหวานแบบญี่ปุ่น และปรับเป็นภาพแมวสูงศักดิ์ ในมือถือจานขนมเค้ก รวมไปถึงการใช้ภาพ The Death of Marat ของ ฌาคส์-หลุยส์ ดาวิด (Jacques-Louis David) ซึ่งเขาวาดภาพเหตุการณ์ที่ ฌอง-ปอล มาราต์ (Jean-Paul Marat) นักคิดนักเขียนผู้เป็นหัวหอกสำคัญของฝ่ายปฏิวัติ โดนลอบสังหารในอ่างอาบน้ำ แต่เราวาดมาราต์ออกมาเป็นนก Raven เพราะได้ข้อมูลมาว่า อาจเป็นนกสายพันธุ์ที่เฉลียวฉลาดที่สุดในโลก

นก Raven ที่เชื่อว่าเป็นนกสายพันธ์ุที่ฉลาดที่สุด กลายเป็นตัวแทนของนักคิดนักเขียน

“เราว่าคนทำงานศิลปะก็คือคนในสังคมคนหนึ่ง และเราก็เขียนทุกอย่างในชีวิตแหละ เรามองว่างานที่เราทำมันเป็นบันทึกที่จะบอกได้ว่าในช่วงเวลานั้นๆ เกิดอะไรขึ้น อะไรที่มีผลกระทบกับเรา ตอนนี้ก็กำลังดูว่าเราจะทำอะไรเพิ่มกับงานชิ้นนี้ได้อีกบ้างค่ะ ก่อนจะเอามาจัดแสดงให้คนไทยได้ชมกันในช่วงเทศกาล Bangkok Art Biennale”

ติดตามเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ที่กำลังจะเกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2563 – 31 มกราคม 2564 ได้ที่ https://www.bkkartbiennale.com/

ยุรีได้แวะไปเที่ยวเมืองทางใต้และพบกับชาวฝรั่งเศสผู้สนับสนุนการทำหนังสือ ‘ทำโดยไทย’ ซึ่งรวบรวมศิลปินไทยหลากหลายท่าน

สถานที่ท่องเที่ยวในเมือง La Rochelle (แนะนำโดยยุรี เกนสาคู)

Vielle Ville (ย่านเมืองเก่า) – มีศาลากลางจังหวัดซึ่งเป็นตึกเก่าสไตล์เรอเนสซองซ์ และถนนโบราณที่เต็มไปด้วยบ้านยุคกลาง ทำจากไม้ และร้านรวงมากมาย ขายตั้งแต่เสื้อผ้าไปจนถึงของกิน

Aquarium La Rochelle – พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป มีสัตว์น้ำมากกว่า 12,000 ชนิดจากมหาสมุทรแอตแลนติก ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และทะเลเขตร้อน และใกล้ๆ ยังมีคาเฟ่แบบเขตร้อนวิวสวยปังที่ท่าเรือยอชต์

Musée d’Histoire Naturelle – มิวเซียมที่เต็มไปด้วยความหลากหลายในโลกธรรมชาติ ทั้งพืชนานาพรรณและสัตว์สตัฟฟ์ที่สวยสมจริงมากที่สุดแห่งหนึ่ง ตั้งแต่กอริลล่า ยีราฟ ไปถึงม้าลาย ที่ดูเหมือนยังมีชีวิตอยู่

Musée d’Histoire Naturelle
Musée d’Histoire Naturelle

Musées des Automates / Modèles Réduits – สองมิวเซียมที่เป็น hidden gem ของเมืองลา โรแชล บนพื้นที่กว่า 1800 ตารางเมตร จัดแสดงหุ่นตุ๊กตาและโมเดลหลากหลายแบบ ทั้งโบราณและร่วมสมัย สามารถเคลื่อนไหวได้แบบออโตเมติกเมื่อเรากดปุ่ม

All photos courtesy of Yuree Kensaku

Leave a Reply