สงคราม ธุรกิจ และความ versatile ของอวัยวะเพศหญิง

ใครจะรู้ว่าในซอยพัฒน์พงศ์ มีมิวเซียมคูลๆ ซ่อนอยู่ มิวเซียมที่บอกเราว่า “ศิลปะ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิถีชีวิต และเซ็กซ์” มันเกี่ยวพันกันทั้งหมด บทความนี้จะพาไปทำความรู้จัก ‘พัฒน์พงศ์’ ในอีกแง่มุมที่หลายคนไม่เคยรู้มาก่อน

ไมเคิล เมสซ์เนอร์ (Michael Messner) ชาวออสเตรียที่มาทำธุรกิจและแต่งงานอยู่ที่เมืองไทย โดยเปิดร้านอาหารอยู่ในซอยพัฒน์พงศ์ เขาได้รู้เรื่องเล่าที่น่าสนใจของพื้นที่แห่งนี้ จึงตัดสินใจทำมิวเซียมเพื่อบอกเล่าเรื่องราวให้คนอื่นได้รู้ด้วย และความที่คุณพ่อของเขาเป็นศิลปินและดูแลอาร์ตมิวเซียมอยู่ที่กรุงเวียนนา บ้านเกิดอยู่แล้ว การทำ ‘พัฒน์พงศ์มิวเซียม’ แห่งนี้ก็เลยมีความไม่ธรรมดา มันไม่ใช่พิพิธภัณฑ์น่าเบื่อที่มีข้อมูลให้คนยืนอ่านๆ ตามบอร์ด แต่เรียกได้ว่ามีการออกแบบทันสมัย ตั้งแต่การจัดวางของ เปิดเพลง จัดแสงไฟ ไปจนถึงอุปกรณ์ interactive เพื่อเล่นกับผู้เข้าชมด้วย

เรื่องราวย้อนกลับไปตั้งแต่มีผู้เข้ามาครอบครองที่ดินผืนนี้ และการพัฒนาให้กลายเป็นแหล่งร้านค้า สำนักงานใหญ่ของบริษัทระดับโลก ก่อนจะกลายเป็นฐานที่มั่นของทหารสหรัฐอเมริกาช่วงสงครามเวียดนาม และการเข้ามาของธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม ผับบาร์ และความบันเทิงยามค่ำคืนอีกหลากหลาย ที่ผู้คนทั่วโลกต้องรู้จัก ถ้าพร้อมแล้ว! เราไปอ่าน 10 เรื่องน่ารู้เชิงประวัติศาสตร์ของพัฒน์พงศ์กัน

ป้ายของซอยพัฒน์พงศ์ที่ปัจจุบันยังคงระบุว่าเป็นถนนส่วนบุคคล

1. ชื่อของถนนพัฒน์พงศ์มาจาก หลวงพัฒน์พงศ์พานิช ชาวจีนไหหลำที่อพยพเข้ามาทำงานในเมืองไทย และสร้างตัวจนร่ำรวย มีเงินซื้อที่ดินละแวกนี้ในราคา 30,000 USD เมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้ว

แผนผังตระกูล พัฒน์พงศ์พานิช ผู้ครอบครองที่ดินในซอยพัฒน์พงศ์

2. ลูกชายคนหนึ่งของหลวงพัฒน์พงศ์พานิช (คุณอุดม) เรียนจบกลับมาจากอเมริกา และตัดถนนเข้าที่ดินตัวเอง ทำตึกสำนักงานให้เช่า โดยผู้เช่าส่วนใหญ่เป็นเพื่อนพ้องชาวต่างชาติของเขา ที่ชักชวนให้เข้ามาทำธุรกิจในเมืองไทย

ห้องจัดแสดงในพัฒน์พงศ์มิวเซียม จำลองบรรยากาศของตึกต่างๆ ในซอยพัฒน์พงศ์ในอดีต
เอกสารภาษาฝรั่งเศสที่เคยตีพิมพ์เรื่องราวของชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในย่านพัฒน์พงศ์เมื่อยุคแรกๆ

3. ยุคแรกของซอยพัฒน์พงศ์ จึงเป็นที่ตั้งของออฟฟิศธุรกิจยักษ์ใหญ่ของต่างชาติมากมาย เช่น Air France น้ำมันคาลเท็กซ์ และบริษัทเทคโนโลยี IBM ฯลฯ

ห้องจัดแสดงในมิวเซียมพาเราย้อนกลับไปในยุคสงครามคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีพัฒน์พงศ์เป็นสถานที่มั่นของกองกำลัง CIA ของอเมริกา
เครื่องพิมพ์ดีดที่เคยใช้กันในยุคที่ CIA เข้ามาในย่านพัฒน์พงศ์

4. ความล้ำของพัฒน์พงศ์ก็คือ มีทั้งร้านอาหารญี่ปุ่นแห่งแรกในเมืองไทยชื่อว่า “ภัตตาคารมิสุ” และก็มีโรงแรมแห่งแรกที่ทันสมัยสุดๆ ในยุคนั้น ชื่อว่า Plaza Hotel เพราะมีน้ำร้อน มีแอร์ และมีโทรศัพท์ ครบสิ่งอำนวยความสะดวกภายในห้องเลย

ป้ายภัตตาคารมิสุ ร้านอาหารญี่ปุ่นแห่งแรกในไทย ก็เกิดขึ้นที่ซอยพัฒน์พงศ์ ปัจจุบันปิดกิจการแล้ว
ป้ายเบียร์ไทยที่เป็นที่นิยมกันมากในสมัยก่อน

5. ฟู้ดแลนด์ ในซอยพัฒน์พงษ์ เป็นธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตสาขาที่ 2 ของผู้ก่อตั้งฟู้ดแลนด์ในไทย เปิดหลังจากสาขาแรกที่เพลินจิตได้ไม่นาน ตอนแรกชื่อว่า พัฒน์พงศ์ซูเปอร์มาร์เก็ต แต่ต่อมาก็รวมหุ้นสองที่นี้เป็นบริษัทเดียวกัน และให้ชื่อว่าฟู้ดแลนด์

นายพล Tony Poe ผู้ขึ้นชื่อในความโหดเหี้ยม เขาสั่งฆ่าผู้คนในสงครามและตัดหูส่งไปเป็น report ที่สหรัฐอเมริกา

6. ด้วยความที่ตอนคุณอุดมไปเรียนที่อเมริกา ได้เข้าร่วมกลุ่มเสรีไทย จึงมีคอนเนกชั่นกับ CIA หรือสำนักข่าวกรองกลางของรัฐบาลสหรัฐ ในช่วงที่มีสงครามเวียดนาม สงครามคอมมิวนิสต์ กลุ่ม CIA ที่มาใช้ชีวิตอยู่ในซอยพัฒน์พงศ์ จึงใช้ที่นี่เป็นเหมือนกองบัญชาการ แหล่งกบดาน และวางแผนกลยุทธ์ต่างๆ

เหล่าทหารอเมริกันที่มาอยู่ในซอยพัฒน์พงศ์ช่วงสงครามเวียดนาม มักรวมตัวกันสังสรรค์และประชุมกองทัพ

7. ไลฟ์สไตล์ของทหารเหล่านี้จะรวมตัวกันในช่วงเย็นตามบาร์ ทั้งวางแผนงาน และสังสรรค์ไปด้วยในตัว จึงเกิดธุรกิจบาร์ต่างๆ โดยมีเจ้าของเป็นชาวต่างชาติมากมาย

จำลองบรรยากาศให้เหมือนบาร์ยุค ’70s ทั้งการตกแต่งและเพลงที่เปิดคลอ

8. บาร์อะโกโก้ (À gogo) ก็เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในซอยพัฒน์พงศ์นี่แหละ จากการที่ลูกค้าผู้หญิงคนนึงเมาแล้วขึ้นไปเต้นคนเดียวบนบาร์ วันต่อมาเจ้าของบาร์ก็เลยได้ไอเดียจ้างน้องๆหนูๆมาเต้นไปเลยสิบคน เพื่อเอนเตอร์เทนลูกค้า (แต่ “เสา” มาทีหลัง เพื่อเพิ่มสีสันในการทำท่าทางให้แอดวานซ์มากขึ้น หรือไม่ก็เอาไว้เป็นที่ยึดเกาะให้คนเต้น เผื่อเป็นลมด้วยมั้ง 555)

เจ้าของบาร์อะโกโก้แห่งแรก

9. กิจกรรมความบันเทิงในบาร์ย่านพัฒน์พงศ์ถือว่าครีเอทีฟติดอันดับโลก จนสาวใสยๆ แบบเรา ต้องอึ้งในความมหัศจรรย์ของการใช้ห. ทำสิ่งต่างๆ ได้มากมายเกินจินตนาการ ไม่ว่าจะเป็นปิงปองโชว์ เปิดขวดเบียร์ ดึงเชือกยาวไม่รู้จบออกมา หรือแม้แต่การเล่นกับใบมีดโกน

Pingpong show กิจกรรมความบันเทิงยอดฮิตของการมาเที่ยวพัฒน์พงศ์

10. พัฒน์พงศ์โด่งดังในหมู่ชาวต่างชาติมากๆๆๆๆ ตั้งแต่ยุคเก่าที่เคยมีหลักฐานลงในนิตยสารตีพิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศส มาจนถึงยุคใหม่ๆ ก็มีคนดังระดับโลก ทั้งดาราฮอลลีวู้ด ศิลปิน นักร้อง เคยมาเที่ยวที่นี่ ไม่เว้นแม้แต่ เดวิด โบวี่ (David Bowie) ที่มาทัวร์คอนเสิร์ตในเอเชีย แต่ยอมลดราคาให้เมืองไทยเป็นพิเศษ เพราะอยากจะมาเที่ยวพัฒน์พงศ์

บอร์ดนี้จัดแสดงชาวต่างชาติที่เป็นเซเลบระดับโลก ซึ่งชื่นชอบการมาเที่ยวพัฒน์พงศ์
David Bowie คือศิลปินนักร้องระดับโลกอีกคนที่ชื่นชอบการมาเที่ยวพัฒน์พงศ์

ทุกวันนี้พัฒน์พงศ์เป็นย่านบันเทิงหรือย่านโคมแดงที่อาจถูกมองในแง่ลบจากคนไทย ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ค่อยมีใครอยากเข้าไปนัก เพราะอาจกลัวถูกเข้าใจผิดหรือถูกมองไม่ดี แต่พัฒน์พงศ์มิวเซียมแห่งนี้ทำให้รู้ว่าการที่เราได้มีโอกาสมองย้อนกลับไปยังประวัติศาสตร์ในยุคหนึ่ง มันช่วยให้เราเข้าใจเหตุผลที่มา และความเปลี่ยนแปลง สิ่งที่น่าทึ่งก็คือถนนตรงนี้มีหลายเรื่องราวสำคัญเกิดขึ้นมาก ขนาดว่าเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ไทย-อเมริกาก็ว่าได้

และที่ทึ่งกว่านั้นไปอีก ก็คือ มูลค่าที่มีอยู่บนถนนเส้นนี้ ดูจะมีแต่เพิ่มและเพิ่มไปเรื่อยๆ ปัจจุบันราคาที่ดินในซอยพัฒน์พงศ์สูงเป็นอันดับต้นๆ ของเมืองไทย

ตอนนี้แม้จะมีการผ่อนปรนในหลายๆ ธุรกิจหลังโควิด แต่บาร์ส่วนใหญ่ในซอยพัฒน์พงศ์ยังไม่ค่อยกลับมาเปิดกันค่ะ เพราะส่วนใหญ่ลูกค้าจะเป็นกลุ่มต่างชาติ บรรยากาศจึงเงียบเชียบ โล่งว่าง แปลกตาไปมาก

บาร์ซาดิสม์และมาร์โซคิสม์

ดังนั้นอาจเรียกว่าตอนนี้เป็นโอกาสที่ดีก็ได้ ที่เราจะลองเดินเข้าไปสำรวจย่านประวัติศาสตร์อีก 1 แห่งในกรุงเทพฯ โดยเริ่มปักหมุดจาก พัฒน์พงศ์มิวเซียม ก่อน แล้วเพื่อนๆ จะเดินสำรวจย่านนี้ได้สนุกขึ้น!

พัฒน์พงศ์มิวเซียม ตั้งอยู่ที่พัฒน์พงศ์ซอย 2 ตรงข้าม Food Land เปิดทุกวัน 11.00-20.00น. ค่าเข้าชม 350 บาทต่อคน ด้านในมีบาร์เครื่องดื่มให้นั่งชิลด้วย สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Patpong Museum

Leave a Reply