เวลาเราเดินเข้าไปในสถานที่ไหนสักแห่งแล้วมีความรู้สึกพิเศษบางอย่างเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านกาแฟ ร้านหนังสือ หรือแม้แต่สวนสาธารณะ ความรู้สึกนั้นจะทำให้เราเข้าใจฟังก์ชั่นของสถานที่นั้นมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว และมันก็ทำให้เราจดจำที่แห่งนั้นได้ดีขึ้นด้วย หนึ่งในกลุ่มศิลปินที่อยู่เบื้องหลังของการสร้างสรรค์ออกแบบสิ่งเหล่านี้ คือ Artslonga

การออกแบบตกแต่งผนังอาคารเก่าของ Lhong 1919 โดยทีมของ Artslonga

เราได้รู้จักกลุ่มคนทำงานศิลปะกลุ่มหนึ่งที่ชื่อ Artslonga หรือ อาร์ตส ลอง กล้า ซึ่งเป็นทีมศิลปินหลากหลายสาขาผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบพื้นที่สวยๆ หลายแห่ง อย่างการตกแต่ง ล้ง 1919 ที่แฝงความเป็นประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจีนจนรู้สึกขลัง, ไทง้วนคาเฟ่ บ้านจีนสไตล์ไชนีสโมเดิร์นในชุมชนตลาดน้อย, ผนังบนชั้น 7 ไอคอนสยามสุดอลังการ หรือแม้แต่โรงแรมในเครือแมริออท ทั้งแบงค็อกแมริออท เดอะ สุรวงศ์ กับงานออกแบบที่ได้แรงบันดาลใจมาจากช่างสิบหมู่ จนได้รางวัลด้านดีไซน์มากมาย หรือ Four Points by Sheraton Phuket Patong Beach Resort โรงแรมที่เปลี่ยนภาพการเที่ยวหาดป่าตองด้วยคอนเซ็ปต์และแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมเปอรานากัน ไปจนถึงโรงแรมหรูที่เพิ่งเปิดใหม่อย่าง Kimpton Maa-Lai Bangkok ที่ซอยหลังสวน กรุงเทพฯ ก็โดดเด่นด้วยเท็กซ์เจอร์ของผนังในส่วนล็อบบี้และสปาที่ไม่เรียบ มีความไม่เท่ากันของสีและรายละเอียด แต่แสดงความเป็นงานฝีมือได้น่าสนใจมาก จนเรารู้สึกเหมือนเดินอยู่ท่ามกลางงานศิลปะที่โอบล้อมตลอดเวลา เหล่านี้ล้วนเป็นผลงานการออกแบบพื้นที่ของอาร์ตส ลอง กล้า ในรูปแบบคอนเซ็ปต์ที่แตกต่างกัน

ร้านอาหารภายใน Lhong 1919

วันนี้ La Vie en Road พามาพูดคุยกับคุณยุ้ย-จตุพร วงษ์ทอง Chief Designer ของอาร์ตส ลอง กล้า กับเบื้องหลังแนวคิดในการออกแบบ วิธีการทำงานกับพื้นที่ และความสำคัญของการนำศิลปะเข้ามาอยู่ร่วมกับพื้นที่กันค่ะ

ที่ Artslonga Studio จังหวัดนครปฐม

ความสนใจในการทำงานศิลปะออกแบบพื้นที่ของคุณยุ้ยเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไรคะ

“ยุ้ยเรียนจบประติมากรรมมาในช่วงป.ตรี ส่วนป.โท มาเรียนด้าน decoration ที่คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นด้านเซรามิก เป็นคนชอบทำงานออกแบบกับพื้นที่ ก็เลยเริ่มมาคุยกับเพื่อนที่ทำอินทีเรียร์ แล้วพอเราได้ลองทำงานศิลปะกับพื้นที่ดูมันก็เริ่มสนุก พื้นที่มันต้องสร้างบริบทให้ตัวมันเอง ถ้าเป็นบ้านหรือคอนโด มันไม่ strong concept เราก็เลยเลือกออกแบบพื้นที่ให้โรงแรม เพราะเขาต้องการความ unique ซึ่งก็ตรงกับที่เราอยากทำ art installation กับที่ที่มันเป็นพื้นที่เฉพาะ”

คุณยุ้ย จตุพร วงษ์ทอง Chief Designer ของอาร์ตส ลอง กล้า

Artslonga ก่อตั้งมาตั้งแต่เมื่อไร

“Artslonga เป็นคำของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ในภาษาอิตาเลียนหมายถึง ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น เรานำมาตั้งชื่อเพื่อให้สื่อถึงความกล้าที่จะทำศิลปะ เรารู้อยู่แล้วว่าข้างหน้าจะมีปัญหาแต่เราพร้อมจะแก้ปัญหา เหมือนกับที่เราแก้ปัญหาในพื้นที่ และงานศิลปะที่เราทำมันค่อนข้างเป็นวัตถุถาวรด้วย เราเริ่มทำกันเมื่อสัก 10 ปีที่แล้วค่ะ โดยยุ้ยเป็นตัวตั้งตัวตี เป็นการรวมตัวของเพื่อนและรุ่นน้องซึ่งมีวิสัยทัศน์เดียวกัน มาทำงานบริษัทเดียวกัน ชื่อ ‘อาร์ตส ลอง กล้า’ โดยตัวยุ้ยเองเป็น Chief Designer และน้องๆ ก็จะมีทั้งที่เรียนจบจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ศิลปะไทย อยู่กันประมาณ 30 คน”

การที่ในกลุ่มมีคนที่เชี่ยวชาญในศิลปะหลากหลายสาขา แสดงว่าเราสามารถรับทำงานศิลปะจากลูกค้าได้หลากหลายรูปแบบ

“ใช่ค่ะ เพราะเดี๋ยวนี้การทำงานศิลปะในกระแสของโลกจะไม่ได้ติดอยู่กับแค่เทคนิคเดียว เช่น เพนต์ก็เพนต์อย่างเดียว แต่จะมีการเพนต์มิกซ์กับงานภาพพิมพ์ หรืองานภาพพิมพ์มิกซ์กับประติมากรรม เขาเรียกว่า mixed material เราอยากให้รู้สึกว่าศิลปะมันไร้ขอบเขต อย่างหลายคนมักจะติดภาพว่าการวาดรูปต้องวาดบนแคนวาสหรือบนกำแพง ใช้สีมาวาด แต่จริงๆ เราใช้สิ่ววาดรูปก็ได้ ใช้การกะเทาะหรืออะไรก็ได้ ให้เกิดเป็นภาพวาด 3 มิติ เราอยากทำให้อาร์ตมันเซอร์ไพรซ์มากขึ้น เลยจำเป็นต้องมี technician เฉพาะด้านหลายๆ สาขา”

วิธีการทำงานของ Artslonga

“เราจะทำงานที่รู้สึกสนุก งานในแต่ละพื้นที่จะต้องมีคอนเซ็ปต์ที่สตรอง ชัดเจน แล้วชิ้นงานที่ได้ก็สอดคล้องกับคอนเซ็ปต์ที่เราสร้าง”

ลองเล่าถึงการทำงานในสถานที่ที่เป็นผลงานการออกแบบไฮไลท์ของ Artslonga หน่อยค่ะ

“พูดถึงผลงานใหม่อย่างโรงแรม Four Points by Sheraton Phuket Patong Beach Resort ละกันค่ะ เพราะโรงแรมเพิ่งเปิดให้เข้าพักเมื่อเดือนตุลาคม 2563 คือปกติคนไปเที่ยวภูเก็ตจะต้องนึกถึงโคโลเนียล เปอรานากันหรือคนท้องถิ่นภูเก็ต แต่อย่างเราเอง เราเคยไปพักโรงแรมในภูเก็ตมาหลายที่มาก เรารู้ว่าถ้าเรายังทำเหมือนเดิม บริบทพื้นที่ของเขาก็จะเหมือนเดิม เลยไปโฟกัสที่ไลฟ์สไตล์ของคนภูเก็ตซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนทำธุรกิจและก่อร่างสร้างตัวขึ้นมามีบ้านหลังใหญ่ สำหรับตัว Four Points Phuket เองเขามีความเป็นบ้านอยู่ในความเป็นโรงแรมด้วย เราเลยใช้นิยามเป็นคำว่าบ้านหลังที่ 2 ด้วยการจำลองว่าบ้านหลังนี้เป็นของคนที่ค้าขายแบบคนภูเก็ต มีสัญชาติไทย จีน มลายู ก็คือชาวเปอรานากัน แต่คนคนนี้เป็นนักเดินทางที่จะไปหาของต่างๆ มาขาย บ้านเขาจึงมีความเป็นแกลเลอรี่ มีของสะสม เขาก็จะต้องรู้ว่าอาร์ตเวิร์กต่างๆ ที่อยู่ในบ้านเขาจะต้องสื่อความเป็นวัฒนธรรม เลยไปศึกษาเกี่ยวกับเรื่องวัฒนธรรมของคนจีนเหล่านี้ และเอามาใส่ในการออกแบบให้ Four Points Phuket และเอาสีและกลิ่นอายเปอรานากันมาใช้นิดๆ หน่อยๆ กลายเป็นการผสมผสานทางวัฒนธรรมของคนในภูเก็ต มากกว่าไปโฟกัสแค่เรื่องเปอรานากันอย่างเดียว

wall paint ที่โรงแรม Four Points by Sheraton Phuket Patong Beach Resort

ความยากเป็นเรื่องของกระบวนความคิดมากกว่า คือถ้าเราคิดแค่ชั้นเดียว เราก็อ่านมันออกได้ง่ายๆ แต่เราเริ่มมองให้มันเป็นปรัชญามากขึ้น ความเชื่อของคนจีนมีอะไรบ้าง อย่างเช่น อะไรที่เป็นวงกลมจะเป็นความไหลเวียนที่ดี หรือดอกไม้อะไรที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความโชคดีและ welcome ไปจนถึงห้องครัว มีอุปกรณ์อะไรบ้างที่คนท้องถิ่นนิยมใช้ และของกินอะไรบ้างที่คนท้องถิ่นกินกัน คือเราดูดีเทลไปอีก และคิดกลับไปว่าถ้าเราไปอยู่จริงๆ เราอยากให้มีอะไรอยู่ในบ้านบ้าง”

ส่วนอีกที่ที่คนพูดถึงกันเยอะก็คือ Kimpton Maa-Lai Bangkok ที่กรุงเทพฯ สไตล์งานที่เราทำให้ที่นี่ก็จะเป็นโมเดิร์นไปเลย เรียกว่าเป็นการหาวัสดุใหม่ทดแทนงานอินทีเรียร์ เพราะโดยปกติแล้วอินทีเรียร์เขาจะมีวัสดุที่เป็นสำเร็จมา ทีนี้เรารู้สึกว่ามันเป็นแมตทีเรียลธรรมดาที่คนอาจจะไม่ว้าว ด้วยความที่ชื่อของโรงแรมคือมาลัย สื่อถึงความละเมียด ละเอียด และพิถีพิถัน เราเลยเอาคำนี้มาใช้โดยเปลี่ยนบริบทถึงการทำด้วยแรงอุตสาหะมีอะไรบ้าง อย่างการปะ การตอก การปัก ซึ่งก็แปลงเป็นงานไม้แกะบนผนังใหญ่ๆ หรือผนังที่มีเท็กซ์เจอร์ที่ร้าน Craft นอกนั้นก็มีผนังล็อบบี้ และสปาทั้งชั้นเลยค่ะ”

เบื้องหลังการทำเท็กซ์เจอร์ที่น่าสนใจให้กับแมตทีเรียลบนกำแพงของโรงแรม Kimpton Maa-Lai Bangkok

หาแรงบันดาลใจในการทำงานศิลปะจากที่ไหน

“จริงๆ แต่ก่อนเป็นคนที่ปฏิเสธทุกอย่างเลย ไม่ค่อยเที่ยว ส่วนใหญ่จะแค่ดูหนังฟังเพลง แต่พอหลังจากเรียนจบ เราเปิดกว้างมากขึ้น ใครชวนไปไหนแล้วลองไป ก็ได้พบว่าเจออะไรใหม่ๆ ตลอด แม้กระทั่งเดินตลาด แรงบันดาลใจมันมาจากคนรอบตัว สังคม ที่มีความหลากหลาย เพราะสังคมของคนเรียนศิลปะจะไปสุดทุกทาง ไม่เคยมีตรงกลางอยู่แล้ว และกลายมาเป็นประสบการณ์ในการทำงานของเรา”

งานออกแบบที่ Bangkok Marriott Surawongse ในธีมช่างสิบหมู่

ปัจจุบันสตูดิโออาร์ตส ลอง กล้า อยู่ที่นครปฐมใช่ไหมคะ

“ใช่ค่ะ พอเรียนจบปริญญาโทก็เก็บเงินซื้อโรงงาน ทำพื้นที่เล็กๆ ไว้เป็นของเรา เป็น art studio หรือ art factory เช้าเราออกไปหาลูกค้า เย็นก็กลับนครปฐม ใครไปใครมาก็แวะมาเยี่ยมได้”

ผลงานของ Artslonga ที่ Bangkok Marriott Surawongse

ในฐานะที่เราเป็นคนออกแบบพื้นที่ แล้วส่วนตัวเราชอบอยู่ในพื้นที่แบบไหน

“เป็นมนุษย์ที่ชอบไปนั่งอยู่คนเดียวเฉยๆ ในที่ที่มีคนเยอะๆ ไปดูว่าคนเขาทำอะไรกัน อย่างในสวนสาธารณะที่มีคนมาออกกำลังกาย หรือแต่ละครอบครัวมาทำกิจกรรมกัน หรือถ้าเวลาเซ็งมากๆ ก็จะไปนั่งตรงหน้าอาจารย์ศิลป์แหละค่ะ เวลาอยู่ในสวนสาธารณะ มันสบายใจค่ะ และเราก็นิ่งขึ้นด้วยเพราะได้อยู่กับตัวเอง ได้คิดอะไรมากขึ้น”

ผลงานของ Artslonga ที่ Bangkok Marriott Surawongse

คิดว่าศิลปะและการออกแบบสำคัญยังไงกับคนที่เข้ามาใช้สถานที่

“เราไม่อยากจะอวยว่าศิลปะมันอยู่ทุกที่นะ จริงๆ ศิลปะมันอยู่แม้กระทั่งในการดื่ม การกิน การเที่ยวอยู่แล้ว ศิลปะมันใกล้ตัวเรามากค่ะ แฟชั่นก็เป็นศิลปะ แต่ศิลปะเวลาที่มันอยู่กับพื้นที่ มันทำให้เราเข้าใจตัวพื้นที่และดื่มด่ำมากขึ้น เหมือนเรากินน้ำหวานในแก้วพลาสติก ก็จะรู้สึกเออมันก็แค่น้ำหวาน แต่ถ้าวันหนึ่ง เรากินน้ำหวานรสเดิมนี้ในแก้วที่ทำจากน้ำตาลเคลือบที่เอามาใส่น้ำหวาน มันจะรู้สึกเติมเต็มทั้งอรรถรส ความรู้สึก และรสชาติ นี่คือเหตุผลความสำคัญว่าทำไมเราถึงต้องไปทำสถานที่ให้มันกลมกล่อม และใช้ศิลปะและการออกแบบเข้ามาช่วย

สิ่งที่เราให้ความสำคัญมากที่สุดในการออกแบบไม่ว่าจะอะไรก็ตาม คือตัวตนและรากเหง้า เพราะถ้าเราไม่รู้ว่าเราเป็นใครอ่ะ เท่ากับเราไม่มีตัวตนเลย จิตวิญญาณเราหายไปแล้ว แล้วยังไง เราจะยืนยังไง จะยืนด้วยวัฒนธรรมแบบไหน ดังนั้นความเป็นรากเหง้า ความเป็นคนไทยที่เขาชอบคิดว่าเชย ไอ้ความ ‘very เชย’ นี่แหละ มันติดตัวเรามาตั้งนานแล้ว มันเป็นรากเหง้าของเรา มันเป็นไปไม่ได้เลยที่คนจะไม่เต้นเพลงสามช่า เป็นไปไม่ได้เลย ต่อให้เป็นฮิปฮอปมาขนาดไหน ถ้ามีความเป็นคนไทย ได้ยินเพลงสามช่ายังไงก็ต้องเต้น เรารู้สึกว่าอะไรพวกนี้มันเป็นความสวยงาม บางทีต้องถูกกลั่นกรองให้มินิมัลหน่อย ความเป็นตัวตนอ่ะสำคัญ จิตวิญญาณทำให้เราจำว่าเรายังเป็นเรา และให้ทุกคนจำว่าเราเป็นใคร”

ติดตามและดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Artslonga ได้ที่ https://www.facebook.com/Artslonga

Leave a Reply